อาคารสถานที่

University of Phayao Archives

1. อาคารเรือนรับรอง
       อาคารเรือนรับรองเป็นอาคารหลังแรกของมหาวิทยาลัยนเรศวรวิทยาเขตสารสนเทศพะเยา สร้างในปี พ.ศ. 2539 ลักษณะอาคารแบบคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว พื้นที่ใช้สอยประมาณ 1,000 ตารางเมตร ประกอบไปด้วยห้องพักผู้บริหาร จำนวน 3 ห้อง ห้องพักอาจารย์และเจ้าหน้าที่ จำนวน 6 ห้องเมื่อเริ่มย้ายการเรียนการสอนจากโรงเรียนพะเยาพิทยาคมมาอยู่ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยาเขตสารสนเทศพะเยายังไม่มีบ้านพักให้อาจารย์ที่มาสอนประจำได้พักอาศัยทางมหาวิทยาลัยจึงจัดให้อาจารย์ผู้สอนพักอยู่ที่อาคารเรือนรับรอง
 

อาคารเรือนรับรอง พ.ศ. 2539

อาคารเรือนรับรอง พ.ศ. 2559





2. อาคารสำนักงานอธิการบดี

สำนักงานอธิการบดี หลังแรกสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2540 ลักษณะอาคารแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้น พื้นที่ใช้สอยประมาณ 8,600 ตารางเมตร ประกอบไปด้วยห้องทำงานผู้บริหาร ห้องทำงานเจ้าหน้าที่ ห้องประชุมและห้องสมุด เมื่อเริ่มเปิดใช้งานยังไม่มีหอพักนิสิต มหาวิทยาลัยจึงแบ่งพื้นที่บางส่วนบริเวณชั้น 2 ทำเป็นหอพักนิสิต ปัจจุบันสำนักงานอธิการบดีได้ทำการปรับปรุงเป็นรูปทรงแบบล้านนาและตัดยอดแหลมออก เพื่อให้เข้ากับหอประชุมพญางำเมืองซึ่งเป็นอาคารที่อยู่บริเวณเดียวกัน และเป็นห้องทำงานของผู้บริหาร ห้องประชุมบวรรัตนประสิทธิ์ ห้องประชุมชูชาติ กีฬาแปง ห้องทำงานของเจ้าหน้าที่ ประกอบไปด้วย กองกลาง กองกิจการนิสิต กองบริการการศึกษา กองแผนงาน กองการเจ้าหน้าที่ กองคลัง กองบริหารงานวิจัยและประกันคุณภาพการศึกษา กองอาคารสถานที่ สำนักงานสภามหาวิทยาลัย สหกรณ์ออมทรัพย์ศรีนครินทรวิโรฒน์ จำกัด

 

อาคารสำนักงานอธิการบดี (ตึกแหลม) สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2540

สำนักงานอธิการบดี ปรับปรุงเมื่อปี พ.ศ. 2553





3. อาคารเรียนรวมหลังเก่า

อาคารเรียนรวมสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2540 ลักษณะอาคารแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้น พื้นที่ใช้สอยประมาณ 18,400 ตารางเมตร  เมื่อย้ายการเรียนการสอนจากโรงเรียนพะเยาพิทยาคมมาอยู่ที่อาคารเรียนรวมยังไม่มีหอพักนิสิต มหาวิทยาลัยจึงแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งทำการเรียนการสอน หอพักนิสิต โรงอาหาร ห้องทำงานของเจ้าหน้าที่ ห้องทำงานของอาจารย์ ห้องสมุด หลังจากที่ปรับปรุงอาคารสำนักงานอธิการบดีแล้วเสร็จ จึงย้ายห้องทำงานของเจ้าหน้าที่ ห้องสมุด ไปอยู่ ณ สำนักงานอธิการบดี ปัจจุบันอาคารเรียนรวมได้ปรับปรุงใหม่มี 4 คณะและ 1 วิทยาลัย ได้แก่  1. คณะนิติศาสตร์  2. คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์  3. คณะวิทยาการจัดการและสารสนเทศศาสตร์  4. คณะศิลปศาสตร์    5. วิทยาลัยการศึกษา

อาคารเรียนรวมหลังเก่า สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2540

 

อาคารเรียนรวมปรับปรุงใหม่





4. อาคารหอพัก มน.นิเวศน์

อาคารหอพัก มน.นิเวศน์

อาคารหอพัก มน.นิเวศน์ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2543 ประกอบด้วย หอพักอาจารย์ 1 หลัง เป็นอาคาร คสล.สูง 3 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 1,237.2 ตารางเมตร จำนวน 28 ห้อง 1 หลัง หอพักนิสิต 2 หลังเป็นอาคาร คสล.สูง 2 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 2,300 ตารางเมตร จำนวน 36 ห้อง 2 หลัง

อาคารหอพัก มน.นิเวศน์ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2543





5. อ่างเก็บน้ำแห่งที่ 1

อ่างเก็บน้ำแห่งที่ 1 สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2541 ลักษณะแบบทำนบดินเหนียวบดอัดแน่น พื้นที่ 70 ไร่ ความยาว 280 เมตร ความสูง 8.00 เมตร ความจุน้ำประมาณ 150,000 ลบ.ม

อ่างเก็บน้ำแห่งที่ 1 สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2541





6. โรงอาหาร

โรงอาหาร

โรงอาหาร 1 สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2544 ลักษณะอาคารแบบคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว พื้นที่ใช้สอยประมาณ 1,630 ตารางเมตร ประกอบไปด้วยพื้นที่ขายอาหาร จำนวน 10 ห้อง ห้องน้ำ จำนวน 2 ห้อง และห้องล้างจาน

โรงอาหาร 1 สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2544

โรงอาหาร 2 (อาคารเอนกประสงค์) สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2545

โรงอาหาร 2 (อาคารเอนกประสงค์) สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2545 ลักษณะอาคารแบบคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว พื้นที่ใช้สอยประมาณ 3,128 ตารางเมตร ประกอบไปด้วย เวที ห้องประชุมเล็กและห้องขายอาหาร จำนวน 6 ห้อง





7. หน่วยปฏิบัติการวิชาชีพการโรงแรมและการท่องเที่ยว

หน่วยปฏิบัติการวิชาชีพการโรงแรมและการท่องเที่ยว

หน่วยปฏิบัติการวิชาชีพการโรงแรมและการท่องเที่ยว เป็นอาคาร คสล.ชั้นเดียว มีห้องพัก จำนวน 50 ห้อง เป็นศูนย์ปฏิบัติการวิชาชีพการโรงแรมและการท่องเที่ยวของมหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งให้บริการด้านที่พักอาศัยแบบชั่วคราวในราคาประหยัดแก่ประชาชนทั่วไป ที่ต้องการสัมผัสธรรมชาติในบรรยากาศโอบล้อมด้วยทิวเขา โดยมุ่งเน้นให้ผู้เข้าพักได้รับบริการที่มีคุณภาพ





8. หอพักนิสิต

หอพักนิสิตสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2546 ลักษณะอาคารแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก ชั้นเดียว จำนวน 110 ห้อง ขนาดพื้นที่ใช้สอยภายในห้อง 24 ตารางเมตร จำนวน 6 หลัง





9. กลุ่มอาคารปฏิบัติการ 12 หลัง

 

ลักษณะอาคารแบบคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว จำนวน 12 หลัง ประกอบไปด้วยอาคารเรียนรวม 4 หลัง อาคารปฏิบัติการวิศวกรรมไฟฟ้า อาคารปฏิบัติการนิเทศศาตร์ อาคารปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ และอาคารปฏิบัติการวิศวกรรมศาสตร์





10. ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา

ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา เดิมมีชื่อว่า “ห้องสมุดมหาวิทยาลัยนเรศวร พะเยา” เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2538 โดยเปิดให้บริการ ณ อาคารวิทยาศาสตร์ โรงเรียนพะเยาพิทยาคม เนื่องจากมหาวิทยาลัยนเรศวร พะเยา เริ่มก่อตั้งและมีที่ทำการชั่วคราวอยู่ที่โรงเรียนพะเยาพิทยาคม พ.ศ. 2542 มหาวิทยาลัยนเรศวร พะเยา ได้ย้ายที่ทำการมาอยู่เลขที่ 19 หมู่ 2 ตำบลแม่กา อำเภอเมือง จังหวัด พะเยา โดยห้องสมุดตั้งอยู่บริเวณชั้น 1 อาคารเรียนรวมหลังเดิม ใน พ.ศ. 2543 ห้องสมุดย้ายมาอยู่ที่ชั้น 1 อาคารบริหาร ต่อมาในปี พ.ศ. 2553 ได้ย้ายที่ทำการห้องสมุดมายังอาคารหลังปัจจุบันซึ่งตั้งอยู่ในกลุ่มอาคารเรียนรวมหลังใหม่ เป็นอาคาร 3 ชั้น มีพื้นที่ทั้งหมด 11,213 ตารางเมตร ปีการศึกษา 2554 เปิดบริการเฉพาะ ชั้นที่ 1 มีพื้นที่บริการ 3,346 ตารางเมตร พื้นที่     สำหรับการทำงานของบุคลากร 640 ตารางเมตร และในปีเดียวกันนี้ มหาวิทยาลัยนเรศวร พะเยา ได้รับการยกฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ซึ่งไม่เป็นส่วนราชการ ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “มหาวิทยาลัยพะเยา” ตามราชบัญญัติมหาวิทยาลัยพะเยา พ.ศ. 2553 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 127 ตอนที่ 44ก ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2553 จึงได้มีการแบ่งหน่วยงานในส่วนงานบริหารของมหาวิทยาลัยพะเยา พ.ศ. 2553 ออกเป็น 8 กอง 3 ศูนย์ และ 1 สำนักงาน เพื่อให้การบริหารจัดการมีความคล่องตัวและสอดคล้องกับภารกิจห้องสมุด มหาวิทยาลัยพะเยา จึงได้ยกฐานะห้องสมุดเป็น “ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา” และในปี พ.ศ. 2556 ศูนย์บรรณสารฯ ได้เปิดบริการเต็มพื้นที่ทั้งอาคาร มีที่นั่งอ่านทั้งหมด 600 ที่นั่ง





11. อาคารเรียนรวมและศูนย์บรรณสารและสื่อการสื่อสาร

อาคารเรียนรวมและศูนย์บรรณสารฯ (หอสมุด) สร้างปี พ.ศ. 2549 ลักษณะอาคารแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้น ประกอบไปด้วยห้องเรียนรวมขนาดต่างๆ พื้นที่ใช้สอยทั้งหมด 31,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติและขุนเขา บรรยากาศสงบเหมาะสมสำหรับการเรียนรู้ ภายในอาคารเรียนนอกจากจะเป็นอาคารเรียนแล้วยังเป็นที่ตั้งของศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา (ห้องสมุด), ห้องประชุม, ศูนย์บริการและสนับสนุนนิสิตพิการ, ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยพะเยา, โรงอาหาร

อาคารเรียนรวมและศูนย์บรรณสารสื่อการสื่อสาร (หอสมุด) สร้างปี พ.ศ. 2549

 





12. อาคารกลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี

อาคารกลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี

อาคารกลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ลักษณะอาคารแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก จำนวน 3 ชั้น 4 หลัง ประกอบด้วยห้องปฏิบัติการ ห้องเรียนรวม ห้องพักอาจารย์ เจ้าหน้าที่และห้องประชุม มีพื้นที่ใช้สอย 17,555 ตารางเมตร โดยแบ่งการทำงานตามหลักสูตรที่เปิดสอน ซึ่งกลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารหลักสูตรของ 3 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาพืชศาสตร์ สาขาวิชาการประมง และสาขาวิชาอุตสาหกรรมเกษตร





13. คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ

คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติได้แยกมาจากสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประกอบไปด้วย สาขาวิชาพืชศาสตร์ การประมง และอุตสาหกรรม การเกษตร จัดตั้งเป็นสำนักวิชาใหม่ภายใต้ชื่อ สำนักวิชาเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ

555





14. คณะพยาบาลศาสตร์

คณะพยาบาลศาสตร์

          คณะพยาบาลศาสตร์ มีอาคารสําหรับการดําเนินงานจํานวน 1 หลัง เป็นอาคารแฝด 3 ชั้น      ต่างระดับโดย ด้านหน้ามี 3 ชั้น ด้านหลังมี 4 ชั้น ชั้นที่ 1 เทพื้นกั้นห้องใต้อาคารจัดเป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ชั้นที่ 2 ด้านหน้าประกอบด้วยห้องทํางานอาจารย์ 2 ห้อง ห้องรองคณบดี 1 ห้อง ผู้ช่วยคณบดี  2  ห้อง ด้านหลังเป็นห้องปฏิบัติการพยาบาล 2 ห้อง ชั้นที่ 3 ด้านหน้า ประกอบด้วยห้องทํางานอาจารย์ 1  ห้อง ห้องหัวหน้าสาขาวิชา 1 ห้อง ห้องปฏิบัติการวิจัย กลางของมหาวิทยาลัย 1 ห้อง และห้องประชุมเล็ก ส่วนด้านหลังเป็นห้องสมุด ชั้นที่ 4 มีเฉพาะด้านหลัง จัดทําเป็นห้องปฏิบัติการพยาบาลสูติศาสตร์ 1 ห้อง และห้องโถงอเนกประสงค์สําหรับจัดกิจกรรม 1 ห้อง





15. คณะแพทยศาสตร์

มหาวิทยาลัยนเรศวร พะเยาและได้จัดตั้งสำนักวิชาแพทยศาสตร์ ขึ้นเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2551 เพื่อผลิตบัณฑิตด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยรับโอนอาจารย์ นิสิต และหลักสูตร มาจากสำนักวิชาสหเวชศาสตร์ ได้จัดทำหลักสูตรใหม่อีก 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรวิชาแพทยศาสตรบัณฑิต (แพทย์แนวใหม่) และหลักสูตรวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ รวมเป็น 5 หลักสูตร พร้อมกับเตรียมการเปิดสถานผลิตแพทย์ โดยมีพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ การผลิต และการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพกับกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2552 ควบคู่ไปกับการจัดตั้งศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยพะเยา และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2553 ซึ่งคณะกรรมการแพทยสภา ในการประชุมครั้งที่ 11/ 2553 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2553 มีมติรับรองหลักสูตรแพทยศาสตร์ ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นโรงเรียนแพทย์แห่งที่ 19 ของประเทศไทย 

ปัจจุบันคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ได้เปิดหลักสูตร และจัดการเรียนการสอนเพื่อผลิตบัณฑิตด้านการแพทย์ และสาธารณสุข โดยมีหลักสูตรดังนี้

            1.  หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต

            2.  หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์

                (กลุ่มวิชาอนามัยชุมชน และกลุ่มวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม)

            3.  หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

            4.  หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเวชกิจฉุกเฉิน

            5.  หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการส่งเสริมสุขภาพ

            6.  หลักสูตรการแพทย์แผนจีนบัณฑิต

            7.  หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต

 





16. คณะเภสัชศาสตร์

สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยาเขตสารสนเทศพะเยา เริ่มเปิดการเรียนการสอนเมื่อปี พ.ศ. 2546 เดิมเป็นส่วนหนึ่งของสำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ซึ่งประกอบไปด้วยสาขาวิชาเภสัชศาสตร์ สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ และสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 จึงได้มีการแยกการจัดการเรียนการสอนเป็นสำนักวิชาเภสัชศาสตร์ สำนักวิชาเภสัชศาสตร์จัดตั้งขี้นเพื่อผลิตเภสัชกรให้เพียงพอกับความต้องการของประเทศ มุ่งเน้นการกระจายเภสัชกรสู่ภาคเหนือตอนบน อันเป็นการเพิ่มพูนบุคลากรให้แก่ภูมิภาค ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการให้ความรู้ และความคุ้มครองด้านยาแก่บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย และประชาชนทั่วไป





17. คณะสหเวชศาสตร์

วิทยาเขตสารสนเทศพะเยา มีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบและจัดการศึกษาหลักสูตรระดับปริญญาตรี 3 หลักสูตร คือ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเทคนิคการแพทย์ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขากายภาพบำบัด และหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต ในวันที่ 1 ธันวาคม 2551 มหาวิทยาลัยนเรศวร มีคำสั่งให้ย้ายหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต ของสำนักวิชาสหเวชศาสตร์ไปอยู่ในความดูแลของ “สำนักวิชาแพทยศาสตร์” และราวเดือนเมษายน 2552 มหาวิทยาลัยนเรศวร มีคำสั่งให้ย้ายหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา ของสำนักวิชาสหเวชศาสตร์ไปอยู่ในความดูแลของสำนักวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทั้งนี้ เพื่อให้เหมาะสมกับการจัดกลุ่มสาขาวิชามากขึ้น จึงได้เกิดคณะสหเวชศาสตร์ และมีหลักสูตรในความรับผิดชอบ 2 หลักสูตรคือ หลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาเทคนิคการแพทย์ และหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขากายภาพบำบัด





18. คณะสถาปัตยกรรมศาตร์และศิลปกรรมศาสตร์

คณะสถาปัตยกรรมศาตร์และศิลปกรรมศาสตร์

คณะสถาปัตยกรรมศาตร์และศิลปกรรมศาสตร์ ก่อตั้งตามมติสภามหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2553 ในปีการศึกษา 2553 เปิดสอนหลักสูตรศิลปกรรมศาสตร์บันทิต ในสาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเป็นการเรียนการสอนแบบ 2 ภาคการศึกษา ณ อาคาร ที่ทำการชั่วคราวคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ อาคารเรียนรวมหลังเดิม ใช้สีประจำคณะ คือ สีซิลเวอร์ ตราประจำคณะใช้ตราพระพิฆเนศ ประทับบนหลังหนู พระหัตถือ บ่วงบาศ มะม่วง งาช้างและกระบอง ในปีการศึกษา 2555 ได้มีแผนการเปิดหลักสูตร เพิ่มเติม จำนวน 7 สูตร ในสองสาขาวิชาประกอบด้วย สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ และสาขาศิลปกรรมศาสตร์

 





19. คณะทันตแพทยศาสตร์

สภามหาวิทยาลัยพะเยาให้ความเห็นชอบในคราวประชุมครั้งที่ 4/2555 เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2555 ให้จัดตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์ เพื่อผลิตทันตแพทย์เพิ่มตามความต้องการของประเทศ และสามารถตอบสนองนโยบายการพัฒนาสุขภาพของประชาชนของรัฐบาล ในการแก้ปัญหาการกระจายบุคลากรทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ และทางด้านสาธารณสุขของประเทศเป็นรูปธรรม ซึ่งทันตแพทย์เป็นสาขาวิชาที่ขาดแคลน โดยเฉพาะในเขตภาคเหนือตอนบน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพะเยา จังหวัดแพร่ จังหวัดน่าน และจังหวัดเชียงราย คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ได้ดำเนินการเปิดหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต โดยสภามหาวิทยาลัยพะเยา มีมติอนุมัติหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2556 ในคราวประชุมครั้งที่ 7/2555 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2555 และหลักสูตรได้รับอนุมัติ จากทันตแพทยสภา เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2557 ปัจจุบันมีนิสิตรุ่นแรก ปีการศึกษา 2557 จำนวน 30 คน





20. คณะวิศวกรรมศาสตร์

คณะวิศวกรรมศาสตร์

คณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ยกฐานะขึ้นจาก สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งได้ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2545 โดยสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์เป็นหน่วยงานหนึ่งของ มหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยาเขตสารสนเทศพะเยา การจัดการเรียนการสอนของสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ในสมัยนั้นเปิดสอนหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต เพียง 5 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม และสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ โดยจัดการเรียนการสอนเพียง ชั้นปีที่ 1 และ 2 เมื่อนิสิตต้องเรียนในชั้นปีที่ 3 และ 4 ทางสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์จะส่งนิสิตไปเรียนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก

ต่อมามหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยาเขตสารสนเทศพะเยา ได้เปลี่ยนชื่อเป็น มหาวิทยาลัยนเรศวร พะเยา เพื่อเตรียมยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศ และเมื่อมหาวิทยาลัยนเรศวร พะเยา ได้ยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศ เป็น มหาวิทยาลัยพะเยา เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 แล้ว สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์จึงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นคณะวิศวกรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ปัจจุบันคณะวิศวกรรมศาสตร์เปิดสอนหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต 4 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา และสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ นอกจากนี้ได้เปิดสอนหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต 3 หลักสูตร คือ การบริหารงานก่อสร้าง (ภาคพิเศษ)  วิศวกรรมโยธา และวิศวกรรมไฟฟ้า





21. วิทยาลัยพลังงานและสิ่งแวดล้อม

วิทยาลัยพลังงานและสิ่งแวดล้อม

          วิทยาลัยพลังงานและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานหนึ่งใน สังกัด มหาวิทยาลัยนเรศวร พะเยา จัดตั้งขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2550 นับเป็นสำนักวิชาที่ 12 ของมหาวิทยาลัยนเรศวร พะเยา วิทยาลัยพลังงานและสิ่งแวดล้อมมีพันธกิจหลักในการจัดการเรียนการสอนระดับ ปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษาทางด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ในปีการศึกษา 2552 เปิดสอนหลักสูตรในระดับปริญญาตรี 1 หลักสูตร คือหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วศ.บ.) สาขาวิศวกรรม สิ่งแวดล้อม และหลักสูตรในระดับบัณฑิตศึกษา 3 หลักสูตร คือ หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต (วท.ม.) สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม หลักสูตร วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต (วท.ม.) สาขาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หลักสูตรวิศวกรรมมหาบัณฑิต (วศ.ม.) สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ในปีการศึกษา 2553 วิทยาลัยพลังงานและสิ่งแวดล้อมได้จัดทำแผนดำเนินการรับนิสิตในระดับปริญญาตรี หลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิตสาขาวิชาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับนักศึกษาในภูมิภาคและเพิ่มการผลิต บัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถทางด้านสิ่งแวดล้อม ให้เพียงพอต่อความต้องการในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป

          วิกฤตด้านพลังงาน ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการพัฒนาของประเทศไทย เพราะไม่ว่า จะเป็นการผลิตน้ำประปา การผลิตไฟฟ้าที่ใช้ในการดำรงชีวิตของมนุษย์ล้วนต้องพึ่งพาจากทรัพยากรทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ฉะนั้น ทุกประเทศทั่วโลกจึงได้มีการศึกษา ค้นคว้าวิจัยเพื่อพัฒนาให้เกิดเทคโนโลยี พลังงานทดแทน และรู้จักการใช้ที่คุ้มค่า วิทยาลัยพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยพะเยา (มพ.) เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่พยายามพัฒนา ผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านพลังงานและสิ่งแวดล้ม รวมถึงสร้างงานวิจัยด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน  ระบบสมาร์ทกริดเป็นการใช้พลังงานในแผน 15 ปี ของโลกอนาคต (2015-2030) เป็นธุรกิจใหญ่ที่สุดที่เคยมี และการใช้พลังงานสุดท้ายจากน้ำมัน ความร้อน และไฟฟ้า อนาคตจะแปลงพลังงานแหล่งกำเนิดหลัก 9 ชนิดเป็นไฟฟ้าเพียงหนึ่งเดียว  Electricity to Supply Universal  ใช้กับรถไฟฟ้า ความร้อนจากไฟฟ้า ด้วยสายส่งสมาร์ทกริดแทนการขนส่งน้ำมัน ก๊าซ ถ่านหิน ฉะนั้น มีความจำเป็นที่ต้องใช้  Smart Gird  ส่งไฟฟ้าแทนส่งเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า รวมถึงการใช้ไฟฟ้าในบ้าน ในอนาคตหากมีการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ อนาคตผู้ใช้ก็เป็นได้ทั้งผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง และเป็นผู้จำหน่ายด้วย ดังนั้น ประเทศต้องการบุคลากรด้านการจัดการพลังงานและเทคโนโลยีสมาร์ทกริด เพื่อที่จะสร้างองค์ความรู้ที่มีความรู้ความเข้าใจและสามารถนำระบบสมาร์ทกริดไปใช้จัดสรรการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ  สมาร์ทกริด เกิดขึ้นจากแนวโน้มของโลกที่หันมาใช้พลังงานสะอาดจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยการติดตั้ง เซลล์แสงอาทิตย์ พลังงานลมจากกังหัน ในการผลิตกระแสไฟฟ้า เมื่อผลิตได้เกินความต้องการ จึงต้องมีการจัดเก็บไว้เพื่อนำมาใช้ในระบบช่วงเวลาที่ต้องการอีกครั้ง ระบบสมาร์ทกริด จึงเข้ามาช่วยบริหารจัดการ จัดเก็บ และจัดสรรการใช้พลังงานไฟฟ้า รวมถึงช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และช่วยในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม





22. คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เดิมได้ใช้พื้นที่ของอาคารเรียน รวมเป็นสำนักงานและห้องปฏิบัติงานของอาจารย์ และเมื่อวันที่  12 กรกฎาคม  2554 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้ย้ายที่ทำการมายังอาคารคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และใช้อาคารแห่งนี้ในการจัดการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ มีการจัดการเรียนการสอนในระดับปริญญา ตรี 5 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ สาขาวิชา คอมพิวเตอร์ธุรกิจ สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ และสาขาวิชาภูมิสารสนเทศศาสตร์ และจัดการเรียน การสอนระดับปริญญาโท 1 หลักสูตร คือ หลักสูตรเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและสารสนเทศ ในปี 2554 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย ให้เปิดหลักสูตรใหม่ 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรวิศวกรรมซอฟต์แวร์ และหลักสูตรวิศวกรรมสารสนเทศ และการสื่อสาร





23. หอประชุมพญางำเมือง

         หอประชุมพญางำเมืองได้รับการออกแบบโดยอาจารย์จุลทัศน์ กิติบุตร ศิลปินแห่งชาติสาขา สถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัย แบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ห้องประชุมขนาด 2,800 ที่นั่ง ลานอเนกประสงค์ และห้องสำนักงาน รูปทรงของอาคารเป็นแนวศิลปะล้านนาร่วมสมัย ซึ่งนำเอาเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของศิลปกรรมล้านนามาปรับประยุกต์ให้เข้ากับอาคารสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว และหอประชุมพญางำเมืองยังใช้เป็นสถานที่ ที่ใช้สำหรับพระราชทานปริญญาบัตร ให้กับนิสิตมหาวิทยาลัยพะเยา





24. กลุ่มอาคารหอพัก UP. Dorm

 

กลุ่มอาคารหอพัก UP. Dorm       

          หอพักนิสิตแยกชายหญิง โดยแบ่งตามเวียงที่นิสิตสังกัด พักได้ห้องละ 4 คน ภายในบริเวณหอพักมีระบบรักษาความปลอดภัย มีร้านสะดวกซื้อและร้านอาหารให้บริการ





25. มหาวิทยาลัยพะเยา

มหาวิทยาลัยพะเยา

มหาวิทยาลัยพะเยาเดิมใช้ชื่อว่า มหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยาเขตสารสนเทศพะเยา เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2538 โดยใช้อาคารเรียนของโรงเรียนพะเยาพิทยาคม อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา เป็นสถานที่ทำการชั่วคราวสำหรับการจัดการเรียนการสอน และในปีการศึกษา 2542 มหาวิทยาลัยได้ทำการย้ายที่ตั้งจากที่ทำการชั่วคราว ( โรงเรียนพะเยาพิทยาคม ) มายังที่ตั้งถาวร ณ ตำบลแม่กา อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา  ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 มหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยาเขตสารสนเทศพะเยา ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงานของมหาวิทยาลัยพะเยาใหม่ ตามมติสภามหาวิทยาลัยนเรศวร ในคราวประชุมครั้งที่ 137 (4/2551) เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 โดยได้เปลี่ยนเป็น มหาวิทยาลัยนเรศวร พะเยา เพื่อให้การบริหารจัดการมีความคล่องตัวและสอดคล้องกับภารกิจ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2553 มหาวิทยาลัยนเรศวร พะเยา ได้รับการยกฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ซึ่งไม่เป็นส่วนราชการ และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หน้า 4 เล่ม 127 ตอนที่ 44 ก เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2553 มีผลเป็น มหาวิทยาลัยพะเยา (University of phayao) โดยสมบูรณ์แบบ ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2553 ตามประกาศมหาวิทยาลัยพะเยา ปัจจุบันมหาวิทยาลัยพะเยามีป้ายมหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย