page loader


ชุดครุยแห่งคุณค่า ภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน

image blog image blog image blog

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา บอกเล่าถึงที่มาของชุดครุยด้วยความภาคภูมิใจว่า ชุดครุยของมหาวิทยาลัยนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยการนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เก่าแก่ทรงคุณค่าทางวัฒนธรรมของชาวไทลื้อ มาประดับเป็นส่วนประกอบสำคัญบนเสื้อครุย อันเป็นการเชื่อมโยงคุณค่าภูมิปัญญาของชุมชนสู่ความเป็นสากลอย่างน่าภาคภูมิใจและกลมกลืน "ทางสภามหาวิทยาลัยได้ให้ความเห็นชอบและประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดเป็นชุดครุยวิทยฐานะ ของมหาวิทยาลัยพะเยา ลวดลายผ้าทอจากชุมชนบนชุดครุยเป็นเพียงแค่ประจักษ์พยานหนึ่งเท่านั้นที่ชี้ให้เห็นถึงความเคารพต่อวัฒนธรรมชุมชนของมหาวิทยาลัยพะเยา แต่ที่มากไปกว่านั้นคือ ความตระหนักต่อระบบการบริหารจัดการเพื่อให้ชุมชน ได้รับประโยชน์จริงจากภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษ

มหาวิทยาลัยพะเยาได้เข้าไปเป็นคนกลางระหว่างกลุ่มทอผ้าไทลื้อกับผู้ประกอบการธุรกิจชุดครุย โดยให้กลุ่มทอผ้าทำสัญญาทอและส่งผ้าทอให้กับมหาวิทยาลัยในราคาที่ยุติธรรมโดยมหาวิทยาลัยรับประกันราคาและเป็นผู้สำรองเงินจ่ายเองทั้งหมด และมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้ควบคุมจำนวนและประสานกับผู้ประกอบการ เพื่อให้มั่นใจว่าได้ใช้ผ้าทอจากกลุ่มทอผ้าในชุมชนเท่านั้น การดำเนินงานดังกล่าวนี้ทำให้ชุมชนมั่นใจถึงรายได้ที่แน่นอน ตรงเวลา

ในขณะเดียวกันราคาที่มหาวิทยาลัยเข้าไปควบคุมก็จะสร้างความเป็นธรรมต่อบัณฑิตของมหาวิทยาลัยด้วย นางทองใบ มาไกล ประธานกลุ่มทอผ้าไทลื้อบ้านทุ่งมอก อ.เชียงคำ กล่าวว่า ทางกลุ่มฯ ได้ร่วมมือกับ ม.พะเยา ในการทอผ้าที่ใช้ประดับชุดครุย โดยใช้ลายผ้าทอโบราณของเรา "รู้สึกดีใจมากที่มหาวิทยาลัยเห็นความสำคัญตรงนี้ ตอนนี้ทางกลุ่มมีรายได้เพิ่มจากเดิมมาก มีงานทำกันทั้งปี มีเงินหมุนเวียนมากขึ้น" จากภาพความร่วมมือและชุดครุยนี้บ่งบอกถึงความเคารพต่อคุณค่าภูมิปัญญาท้องถิ่น ดังกล่าวจึงทำให้ พิธีรับพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยพะเยาในปีนี้จึงไม่เพียงแค่เป็นครั้งแรกที่บัณฑิตของมหาวิทยาลัยพะเยา จะได้สวมชุดครุยอันทรงศักดิ์และสิทธิ์แห่งปริญญาที่ตนเองสำเร็จการศึกษา"

หากแต่พิธีนี้ยังได้สร้างความภาคภูมิใจที่บัณฑิตและมหาวิทยาลัยจะได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชนในการรักษาและสืบสานวัฒนธรรมและภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าของชุมชน ทั้งยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในท้องถิ่น ด้วยการสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างต่อเนื่อง เป็นการบูรณาการ พันธกิจของมหาวิทยาลัย เข้ากับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชน พิธีนี้ในความรู้สึกของประชาคมมหาวิทยาลัยพะเยา จึงไม่ใช่เพียงแค่เป็นครั้งแรกของการรับปริญญา หากแต่เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างคุณค่าให้กับชุมชน ตามปณิธาน "ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน" ของมหาวิทยาลัยพะเยา

ภาพ/ข่าว : งานประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยพะเยา