page loader


คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ

image blog

แปรรูปซังข้าวโพดเป็นอาหารหมักโคเนื้อ ลดต้นทุน-เพิ่มรายได้เกษตรกร
โครงการอาหารหมักโคเนื้อจากเปลือกข้าวโพดฯ มีที่มาจากกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อขาดแคลนอาหารหยาบในช่วงหน้าร้อน และปัญหาการเผาเปลือกข้าวโพดของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยพะเยาจึงพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยนำเปลือกข้าวโพดเหลือทิ้งทางการเกษตรมาหมักเป็นอาหารหยาบให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ ใช้ทดแทนอาหารหยาบในช่วงหน้าแล้ง เพื่อช่วยลดการเผาเปลือกข้าวโพด สร้างรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดจากการขายเปลือกข้าวโพดและยังช่วยลดต้นทุนด้านอาหารให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคด้วยเช่นกัน”
สำหรับคนทั่วไปแล้ว "ซังข้าวโพด" อาจเป็นได้แค่ "ขยะ" เพราะไม่รู้จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร แถมเกษตรกรบางส่วนยังนำซังข้าวโพดไปทำลายโดยการเผา ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศอีกด้วย นิสิตจากมหาวิทยาลัยพะเยา (มพ.) กลุ่ม Seedling teens กลับนำสิ่งที่ไม่มีใครเห็นประโยชน์ มาทำให้เกิดประโยชน์ได้อย่างมากมายในแวดวงเกษตรกรรม จนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศในการแข่งขัน U-Project ของบริษัทเครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด จากการนำเสนอในหัวข้อโครงการ "อาหารหมักโคเนื้อจากเปลือกข้าวโพด รักษ์โลก ลดเผา ไร้มลพิษ" ของนิสิต
นิสิตทีม Seedling teens ประกอบไปด้วย น.ส.สุกัญญา ใจคำ, น.ส.เปมิกา ท้าวนิรันดร์กุล, น.ส.สโรชา ขันติยวงษ์, น.ส.สมัชญา จันทะวงค์ และ น.ส.พัชรี ยงเพชร นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ โดยมี ดร.ขรรค์ชัย ดั้นเมฆ อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะเกษตรและทรัพยากรธรรมชาติ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ดร.ขรรค์ชัย เล่าถึงที่มาที่ไปของการนำเสนอโครงการนี้ว่า "โครงการนี้เริ่มจากทางทีมได้งานวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เครือข่ายภาคเหนือ (สวทช.ภาคเหนือ) ที่ได้ไปลงพื้นที่ โดยได้ทุนของการนำเปลือกข้าวโพดมาใช้ประโยชน์ เพราะแถว จ.พะเยา จ.แพร่ และ จ.น่าน มีเปลือกข้าวโพดเผาเยอะ จากนั้นไปดูว่าในพื้นที่นี้เลี้ยงโคเนื้อ และโคขุนกันเยอะ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง ใช้ฟางเยอะ จึงตอบโจทย์งานวิจัยที่เอาซังข้าวโพดมาใช้เลี้ยงโคขุนได้หรือไม่ ปรากฏว่าเมื่อทดลองทำแล้ว ลดต้นทุนได้ 50%" จากนั้นได้ลงพื้นที่ไปเรื่อยๆ และได้ขยายงานเป็นลักษณะบริการวิชาการ โดยมีนิสิตทีม Seedling teens ลงพื้นที่ด้วย ช่วยอบรมเกษตรกรบ้าง ซึ่งสอดคล้องกับ U-Project ของกระทิงแดง ที่เป็นโครงการต้องการให้เยาวชนมีส่วนร่วมกับชุมชน โดยลงพื้นที่เพื่อสร้างสรรค์ชุมชนร่วมกันโดยใช้ประโยชน์จากงานวิจัย
จุดเด่นของโครงการนี้ อันแรกเลยคือเป็นสิ่งที่ชุมชนทำอยู่แล้ว เป็นความต้องการของชุมชนจริงๆ ไม่ใช่โครงการที่นำไปยัดเยียดให้ชุมชน และสามารถลดต้นทุนได้จริง อีกอย่างคือความยั่งยืนของโครงการ เพราะจะมี "สมาร์ท ฟาร์เมอร์" หรือแหล่งความรู้ในด้านเกษตรกรรม อยู่ใน จ.พะเยา จ.เชียงราย จ.แพร่ และ จ.น่าน โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้ความรู้จังหวัดละ 2-3 คน ทำให้เกษตรกรไม่จำเป็นจะต้องเดินทางไปที่ จ.พะเยา สิ่งนี้น่าจะถูกใจคณะกรรมการ และตัดสินให้ทีม Seedling teens ได้รับรางวัล และแม้โครงการจะเสร็จแล้ว แต่ สมาร์ท ฟาร์เมอร์ ที่อยู่ในพื้นที่ ยังทำให้ความรู้ได้อย่างต่อเนื่อง และขณะนี้ได้สร้างเครือข่ายออกไปเรื่อยๆ
โครงการนี้ยังนำไปต่อยอดได้ เช่น นำเปลือกข้าวโพดไปลดต้นทุนในการเลี้ยงโคขุน แต่สูตรทางการเกษตรในแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน อย่าง จ.พะเยา จะใช้มันสำปะหลังกับฟักทองหมักเลี้ยงโคขุนแทนอาหารสำเร็จรูป ทำให้ต้นทุนลดลง จากเดิมวันละ 90 บาท เหลือวันละ 40 บาท ต่อวันต่อวัวหนึ่งตัว และตอบโจทย์ของมหาวิทยาลัยในการนำงานวิจัยสู่ชุมชน โดยนิสิตจะได้เรียนรู้นอกห้องเรียนด้วย