ประเพณีตานธรรม

ประเพณีตานธรรมแบบไทลื้อ คล้ายกับประเพณีการฟังธรรมของชาวล้านนา มีการตานธรรม ระหว่างเดือน มกราคม-มีนาคม โดยมีวัดที่จัดประเพณีตานธรรมทุกปี ได้แก่ วัดหย่วน ,วัดแสนเมืองมา,วัดดอนไชย และวัดพระธาตุสบแวน นอกนั้นอาจจะจัดหรือไม่ก็ได้ ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 25 มีนาคม 2560 การตานธรรม ก็คือ การแสดงพระธรรมเทศนา การเทศนาธรรม หรือการเทศน์ของพระสงฆ์ ชาวไทลื้อ เชื่อว่า คนที่ตายไปแล้วยังมีความต้องการในปัจจัยสี่ เหมือนขณะมีชีวิตอยู่ทุกประการ แต่การจะได้มาซึ่งปัจจัยสี่เหล่านั้น นอกจากจะได้โดยอาศัยบุญของผู้ตายที่เคยทำไว้ขณะยังมีชีวิตอยู่ แล้วยังอาจได้รับจากญาติพี่น้องลูกหลานอุทิศไปให้ผ่านทางพระสงฆ์ โดยเฉพาะหากได้ถวายไปพร้อมกับกัณฑ์ธรรม (กัณฑ์เทศน์) และหอผ้า (เรือนสมมุติ) คล้ายกับประเพณีกงเต๊กแบบชาวจีนนั่นเอง การตานธรรมในงานศพ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งของชาวไทลื้อ ญาติพี่น้องจะจ้างช่างฝีมือดีมาสร้างปราสาท ไม้ไผ่ บุด้วยผ้าขาว (ผ้าทอพื้นเมืองสีขาว) ชาวไทลื้อเรียกว่า หอผ้า ลักษณะคล้ายกับมณฑปของชาวล้านนาทั่วไป ประดับตกแต่งด้วยตุง ผ้าเจ๊ดน้อย(ผ้าเช็ดหน้า) ผ้าเจ๊ดโหลง(ผ้าสไบพาดไหล่) และดอกไม้ที่สวยงาม ภายในจะบรรจุไปด้วยข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับคนตาย และเงินให้มากที่สุด โดย ทำไม้เสียบ หรือพับเป็นดอกไม้ ปักบนมะพร้าวที่ตกแต่งรูปทรงสวยงาม เรียกพร้าวสุ่ม ปัจจุบันมีการเพิ่มปัจจัยสี่ ตามความจำเป็นในสังคม เช่น ตู้เย็น ทีวี เตาแก็ส พัดลม หรือโต๊ะเก้าอี้ ฯลฯ ตามฐานะของผู้ตายและตามแต่ญาติพี่น้องจะหามาได้ ทั้งหมดนี้ถือเป็นกัณฑ์เทศน์ที่สำคัญที่สุดในงานศพและพิธีตานธรรมของชาวไทลื้อ

PDF