ประเพณีเวียนเทียนกลางน้ำ

          วัดติโลกอารามจมอยู่ในกว๊านพะเยาเนื่องจากในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ กรมประมงสร้างประตูกั้นน้ำในกว๊านพะเยาเพื่อกักเก็บน้ำ จึงทำให้บริเวณที่เป็นกว๊านพะเยาที่แต่เดิมเป็นชุมชนโบราณ และมีวัดอยู่เป็นจำนวนมากต้องจมน้ำ ในปี 2526 ชาวบ้านชุมชนวัดศรีอุโมงค์คำได้ขุดพบพระพุทธรูปหินทรายปางมารวิชัยองค์โตที่ต่อมาเรียกขานว่า "หลวงพ่อศิลา" จึงได้นำมาเก็บรักษาไว้ที่วัดศรีอุโมงค์คำนานถึง 24 ปี ส่วนพื้นที่ของวัดติโลกอารามที่เคยอยู่ใต้น้ำ ก็ได้มีการบูรณะปรับแต่งจนเสร็จสิ้นใน ปี 2550 กลายเป็นวัดบนเกาะกลางน้ำ และได้อัญเชิญหลวงพ่อศิลากลับไปประดิษฐานคืนสู่กว๊านพะเยาตามตำแหน่งเดิม จนต่อมาก็ได้กลายเป็นประเพณีของชาวพะเยาที่ได้จัดพิธีเวียนเทียนกลางน้ำรอบวัดติโลกอารามและหลวงพ่อศิลาขึ้นทุกๆ ปี ในวันพระใหญ่ คือ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา และวันอาสาฬหบูชา การเวียนเทียนกลางน้ำนั้นจะเริ่มขึ้นในช่วงเย็น โดยพระภิกษุ-สามเณรจะสวดมนต์เริ่มพิธีที่ลานกลางน้ำ วัดติโลกอาราม ก่อนที่พระสงฆ์จะลงเรือนำขบวนเรือของชาวบ้านและนักท่องเที่ยวออกไปเวียนเทียนกลางน้ำรอบวัดติโลกอาราม 3 รอบท่ามกลางความปีติอิ่มเอิบใจของชาวพุทธที่มาร่วมงานประเพณี

PDF