สภาพทั่วไปของจังหวัดพะเยา

1. ที่ตั้งและอาณาเขต

          จังหวัดพะเยา เป็นจังหวัดชายแดนตั้งอยู่ทางภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย อยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 18 องศา 44 ลิปดา เหนือ ถึง 19 องศา 44 ลิปดา เหนือ และเส้นแวงที่ 99 องศา 40 ลิปดา ตะวันออก ถึง 100 องศา 40 ลิปดา ตะวันออก อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครคิดตามระยะทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ประมาณ 735 กิโลเมตร          

2. ลักษณะภูมิประเทศ

          ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปล้อมรอบไปด้วยเทือกเขา ทั้งทางด้านตะวันออก ด้านตะวันตก ด้านใต้และตอนกลางของจังหวัด เทือกเขาเหล่านี้ จะทอดตัวเป็นแนวยาวจากเหนือลงใต้ มีที่ราบเหมาะแก่การเพาะปลูกอยู่สองข้างเทือกเขา และระหว่างลำน้ำ มีเนื้อที่ภูเขาสูงและสูงมากที่สุด ประมาณร้อยละ 47 ของพื้นที่จังหวัด มีพื้นที่เนินเขาผสมที่ราบประมาณร้อยละ 35 และมีที่ราบลุ่มน้อยที่สุด ประมาณร้อยละ 18 ระดับความสูงของพื้นที่จังหวัดพะเยา มีความสูงระหว่าง 300 - 1,550 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง

3. ขนาดพื้นที่ของการใช้ประโยชน์ที่ดิน

          จังหวัดพะเยา มีพื้นที่ 6,335.06 ตารางกิโลเมตร หรือ 3,959,412 ไร่ ในปี พ.ศ. 2555 พื้นที่จังหวัดพะเยา เป็นเนื้อที่ป่าไม้ 3,287.20 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,054,496 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 51.9 ของพื้นที่ทั้งหมด เป็นเนื้อที่ถือครองทางการเกษตร 2,403.13 ตารางกิโลเมตร หรือ 1,501,955 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 37.9 ของพื้นที่ทั้งหมด และเป็นเนื้อที่นอกการเกษตร 644.74 ตารางกิโลเมตร หรือ 402,962 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 10.2 ของพื้นที่ทั้งหมด

4. ทรัพยากรธรรมชาติ

           ทรัพยากรป่าไม้ จังหวัดพะเยา มีพื้นที่ รวมประมาณ 6,187.74 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 3,867,337.73 ไร่ มีสภาพเป็นพื้นที่ป่า คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 51.77 ของพื้นที่ทั้งหมด โดยมีเนื้อที่ 3,203.38 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,002,110.91 มีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย

ทรัพยากรน้ำ

          จังหวัดพะเยาตั้งอยู่ในลุ่มน้ำอิง ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงในลุ่มน้ำโขงตอนกลาง โดยครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำ 7,388 ตร.กม.  มีปริมาณน้ำท่าตามธรรมชาติ  2,247  ล้าน ลบ.ม. และบางส่วนของพื้นที่อยู่ในลุ่มน้ำยมตอนบนที่มีแม่น้ำควร แม่น้ำงิม  และแม่น้ำยมตอนบนไหลผ่าน 

แหล่งน้ำผิวดินที่สำคัญ  ได้แก่

1. กว๊านพะเยา มีเนื้อที่ประมาณ 12,831 ไร่ หรือประมาณ 20.53 ตร.กม. ปัจจุบันสามารถเก็บกักน้ำได้ 33.84 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งสามารถช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรท้ายกว๊านพะเยาใน ฤดูฝนได้ประมาณ 300,000 ไร่ และในฤดูแล้งได้ 13,000 ไร่

2. หนองเล็งทราย   เป็นแหล่งน้ำที่เป็นต้นน้ำของลำน้ำอิง ตั้งอยู่ในเขตอำเภอแม่ใจ มีเนื้อที่ประมาณ 4,000 ไร่ และในปัจจุบันสามารถกักเก็บน้ำได้ 4 ล้าน ลบ.ม.

3. แม่น้ำอิง มีต้นกำเนิดจากดอยหลวง อยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอแม่ใจ ลำน้ำส่วนหนึ่งไหลไปรวมกันที่หนองเล็งทรายทำให้เกิดเป็นแหล่งน้ำอิง แล้วไหลลงสู่กว๊านพะเยา และไหลลงสู่ลำน้ำโขงที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย มีความยาวรวมทั้งสิ้น 240 กม. และมีความยาวของลำน้ำที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดพะเยา 154 กม.

4. แม่น้ำยม มีต้นกำเนิดจากดอยภูลังกาของเทือกเขาผีปันน้ำในเขตอำเภอปง แล้วไหลผ่านอำเภอเชียงม่วน ผ่านอำเภอสอง จังหวัดแพร่ ไหลมาบรรจบกันที่แม่น้ำน่าน อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ มีความยาวในเขตพื้นที่จังหวัดพะเยา 120 กม. และมีความยาวรวมทั้งสิ้น 550 กม.

5. การปกครอง

          จังหวัดพะเยา ประกอบด้วย อำเภอ 9 อำเภอ คือ เมืองพะเยา แม่ใจ เชียงคำ ดอกคำใต้ ปง จุน เชียงม่วน ภูซาง และภูกามยาว แบ่งเป็น 68 ตำบล 779 หมู่บ้าน/39 ชุมชน (อยู่ในเขตเทศบาลเมืองพะเยา จำนวน 13 ชุมชน และเทศบาลเมืองดอกคำใต้ 26 ชุมชน) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดพะเยา ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง เทศบาลเมือง 2 แห่ง เทศบาลตำบล 33 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล 36 แห่ง

6. ประชากร

          จังหวัดพะเยา ณ เดือน กันยายน พ.ศ. 2553 มีประชากรทั้งสิ้น 486,979 คน เป็นชาย 238,641 คน หญิง 248,338 คนมีจำนวนบ้านทั้งสิ้น 170,211 หลัง ความหนาแน่นโดยเฉลี่ยประมาณ  76.87 คน/ตร.กม. จังหวัดพะเยามีชาวบ้านอาศัยอยู่ตามบริเวณเทือกเขาสูง จำนวน 4 เผ่า 1 ชนกลุ่มน้อยได้แก่ เผ่าเย้า แม้ว  ถิ่น ลีซอ และไทลื้อ โดยกระจายอยู่ตามอำเภอต่างๆเช่น เชียงคำ แม่ใจ เมืองพะเยา คอกคำใต้ เชียงม่วน และภูซางมีจำนวนครัวเรือน 2,658 ครัวเรือน 3,346 ครอบครัว

7. ด้านแรงงานและอาชีพ

          สถานการณ์ด้านแรงงานของจังหวัดพะเยา ไตรมาส 3 ปี 2558 (กรกฎาคม – กันยายน 2558) จากผลการสำรวจภาวะการทำงานของจังหวัดพะเยา พบว่า จำนวนประชากรที่อยู่ในวัยแรงงานที่มีอายุ 15 ปี ขึ้นไป มีประมาณ 348,127 คน เป็นชาย 168,739 คน เป็นหญิง 179,388 คน แยกเป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานรวม 227,486 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 65.3 ของประชากรที่มีอายุ 15 ปี ขึ้นไป เป็นผู้มีงานทำ 223,883 คน คิดเป็นร้อยละ 98.4 ของกำลังแรงงานรวม เพศชาย 120,214 คน เพศหญิง 103,669 คน ผู้ว่างงาน 869 คน คิดเป็นร้อยละ 0.4 ของกำลังแรงงานรวม และเป็นแรงงานที่รอฤดูกาล 2,734 คน คิดเป็นร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวมการมีงานทำ เมื่อพิจารณาแยกตามประเภทอุตสาหกรรม จำนวนผู้มีงานทำในจังหวัดพะเยา ประมาณ 223,883 คน พบว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้ทำงานอยู่ในสาขาหลักๆ จำนวน 3 สาขา ได้แก่ เกตษรกรรม ป่าไม้ และการประมง จำนวน 136,080 คน หรือร้อยละ 60.8 ของผู้มีงานทำทั้งหมด รองลงมาคือสาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ จำนวน 27,427 คน คิดเป็นร้อยละ 12.2 และสาขาการก่อสร้างจำนวน 13,177 คน คิดเป็นร้อยละ 5.9 ที่เหลือกระจายอยู่ในสาขาต่างๆ เช่น สาขาการผลิต การบริหาร ราชการ โรงแรม และภัตตาคาร การศึกษา งานด้านสุขภาพ การบริการชุมชน การขนส่ง กิจกรรมทางการเงินด้านอสังหาริมทรัพย์ ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร ลูกจ้างในครัวเรือน กิจกรรมทางวิชาชีพและเทคนิคการทำเหมืองแร่และเหมืองถ่านหิน เป็นต้น

8. ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดพะเยา

          ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดพะเยา ปี 2556 มีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาประจำปีเท่ากับ 33,369 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อน จำนวน 2,174 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.97 โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดต่อหัว (GPP per capita) เท่ากับ 80,303 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน จำนวน 5,376 บาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.18 (ลำดับที่ 52ของประเทศ และลำดับที่ 11 ของ 17 จังหวัดภาคเหนือ) สาขาการผลิตที่มีมูลค่าสูงสุด 4 ลำดับแรก ได้แก่ สาขาเกษตรกรรม การล่าสัตว์และการป่าไม้ มีมูลค่า 14,069 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42.16 รองลงมา ได้แก่ สาขาการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์ จักรยานยนต์ ของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน มีมูลค่า 3,535 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.59 ถัดมาเป็นสาขาการศึกษา คิดเป็นมูลค่า 3,042 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9.12 และสาขาการบริหารราชการและการป้องกันประเทศ รวมทั้งการประกันสังคมภาคบังคับ มีมูลค่า 2,446 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7.33 โดยมูลค่ารวมทั้ง 4 สาขา เป็นจำนวนถึง 23,092 ล้านบาท หรือร้อยละ 69.20 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดพะเยาทั้งหมด

9. ผลิตภัณฑ์ภาคการเกษตร

           ใน ปี พ.ศ. 2557 จังหวัดพะเยามีเนื้อที่ถือครองการเกษตร 1,452,378 ไร่ส่วนใหญ่จะเป็นที่ทำนามากที่สุดประมาณ 652,805 ไร่ ที่ปลูกพืชไร่พืชผัก ประมาณ 510,657 ไร่ ที่ปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น ประมาณ 258,916 ไร่ นอกนั้นเป็นที่อยู่อาศัย ที่สวนผักและไม้ดอก ที่ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ที่รกร้าง และเนื้อที่ทำการเกษตรอื่นๆ อาชีพหลักของประชากร คือ การทำนา และพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ ข้าว โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิที่มีชื่อเสียงและมีคุณภาพที่สุดของภาคเหนือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง หอมแดง กระเทียม ขิง ยางพาราลิ้นจี่ และลำไย

ด้านการประมง

           ปริมาณสัตว์น้ำจืดที่จับได้จากการทำการประมงน้ำจืด ในปี 2556 มีจำนวน 3,198,716 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 155 ล้านบาท ปลาที่จับได้ส่วนใหญ่จะเป็น ปลานิล ปลานวลจันทร์ ปลาไนปลายี่สก ปลาตะเพียน และอื่นๆ แหล่งประมงที่สำคัญ คือ กว๊านพะเยา อ่างเก็บน้ำแม่ปืม และแหล่งน้ำของแต่ละอำเภอ รวม 9 อำเภอ โดยมีศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดพะเยา เป็นหน่วยงานที่เพาะพันธุ์ปลาต่างๆ และส่งเสริมสนับสนุนพันธุ์ปลา ในการนำไปปล่อยแหล่งน้ำธรรมชาติต่างๆ ในจังหวัด ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดในจังหวัดพะเยา มีทั้งหมด 12,183 ราย จำนวน 20,203 บ่อ โดยส่วนใหญ่พันธุ์ปลาที่เลี้ยง คือ ปลานิล ปลาดุกปลาตะเพียน และอื่นๆ ด้านการเพาะพันธุ์และอนุบาลสัตว์น้ำจืดในจังหวัดพะเยา มีทั้งหมด 13 ฟาร์ม โดยส่วนใหญ่ลูกพันธุ์สัตว์น้ำที่ผลิตมาก คือ ปลานิล ลิ่น นวลจันทร์เทศ และอื่นๆ

10. ด้านการลงทุน

          ในพื้นที่จังหวัดพะเยา มีโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ (สะสม) ณ วันที่ 18 มกราคม 2559 จำนวนทั้งสิ้น 460 โรงงาน เงินลงทุน 4,842,281,950 และมีจำนวนคนงาน 5,560 คน

ที่มา : สำนักงานธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดพะเยา

PDF