อุทยานแห่งชาติดอยภูนาง

          อุทยานแห่งชาติดอยภูนาง ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอดอกคำใต้ อำเภอปง และอำเภอเชียงม่วน ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เชียงม่วน อ.ปง อ.ดอกคำใต้ พื้นที่ประกอบไปด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อน สภาพป่าโดยทั่วไปเป็นป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรังภายในอุทยานแห่งชาติที่มีสิ่งน่าสนใจมากมายทั้งสัตว์ป่าหายากและน้ำตกต่างๆ สัตว์ป่าหายากหลายชนิดเช่น เสือปลา แมวลายหินอ่อน แมวดาว เลียงผา ตัวนิ่ม ที่สำคัญคือ นกยูง จะพบเห็นได้ง่าย สถานที่น่าสนใจในเขตอุทยานฯ ประกอบด้วย                                            1. ถ้ำใหญ่ผาตั้ง เป็นถ้ำลึกประมาณ 800 เมตร มีหินงอกหินย้อยงดงามอยู่ทั่วไป บริเวณผาตั้งยังมีถ้ำขนาดเล็กอีกหลายแห่ง มีหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ภน.1 (ถ้ำผาตั้ง) คอยดูแลและอำนวยความสะดวก ถ้ำใหญ่ผาตั้งอยู่ห่างจากอำเภอปงไปประมาณ 23 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากบ้านผาตั้งไปอีก 1 กิโลเมตร                                                                    2. แหล่งอาศัยของนกยูงพันธุ์ไทย  อุทยานแห่งชาติดอยภูนางแห่งนี้มีนกยูงมากที่สุดในภาคเหนือ ซึ่งมีมากถึง 265 ตัว ที่นี่จึงเป็น แหล่งอาศัยของนกยูงพันธุ์ไทยฝูงสุดท้าย โดยนกยูงที่พบนั้นเป็นนกยูงเขียว หรือนกยูงไทย ชนิดพันธุ์ย่อยอินโดจีน ทั้งนี้ ฤดูผสมพันธุ์ของนกยูงจะอยู่ในเดือนมกราคม-มีนาคม และช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการท่องเที่ยว คือเดือนตุลาคม-มกราคม เพราะธรรมชาติจะสวยงามมากในช่วงเวลานี้                      3. น้ำตกธารสวรรค์ หรือน้ำตกบ่อเบี้ย ตั้งอยู่ในเขตติดต่อกับบ้านบ่อเบี้ยหมู่ที่ 6 ตำบลบ้านยาง อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา อยู่ในเขตป่าแม่ยมฝั่งขวามีลักษณะเป็นน้ำตกหิน 4 ชั้น ชั้นที่ 1 เป็นที่มีความสูงมากที่สุด ประมาณ 8 เมตร ชั้นที่ 2 สูงประมาณ 2.50 เมตร ชั้นที่ 3 และ 4 สูงประมาณ 2 เมตร มีต้นกำเนิดจากห้วยแม่ปิง ซึ่งประกอบด้วยลำห้วยหลายสายไหลมารวมกัน น้ำตกชั้นที่สวยที่สุดคือ ชั้นที่ 1 ซึ่งตกลงมาจากแผ่นหินปูนที่กว้างประมาณ 150 เมตร สภาพโดยรอบ ๆ จะเป็นป่าเบญจพรรณผสมป่าดิบชื้น และพื้นที่ของราษฎรบ่อเบี้ย    4. น้ำตกนาบัว ตั้งอยู่ในเขตติดต่อกับบ้านบัว หมู่ที่ 4 ตำบลสระ อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา ซึ่งอยู่ในเขตป่าแม่ยมฝั่งขวาเป็นน้ำตกหินปูนสามชั้น ชั้นที่ 1 มีความสูงประมาณ 10 เมตร กว้างประมาณ 6 เมตร ชั้นที่ 2 อยู่ห่างจากชั้นที่ 1 ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 5 กิโลเมตร สูงประมาณ 6 เมตร กว้างประมาณ 15 เมตร ชั้นที่ 3 อยู่ห่างจากชั้นที่ 2 ไปทางทิศเหนือประมาณ 500 เมตร กว้างประมาณ 20 เมตร มีต้นกำเนิดมาจากห้วยแม่จั๊งซึ่งมีน้ำไหลตลอด                                                                                              5. น้ำตกห้วยต้นผึ้ง เป็นน้ำตกขนาดเล็กมี 3 ชั้น ชั้นที่ 3 สูงประมาณ 40 เมตร และมีน้ำไหลตลอดปี การเดินทางใช้ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1251 สายดอกคำใต้-เชียงม่วน เมื่อผ่านสามแยกบ้านบ่อเบี้ยไปประมาณ 1 กิโลเมตร จะพบกับทางเข้าน้ำตกซึ่งเป็นทางเดินเท้าประมาณ 1 กิโลเมตร ตลอดเส้นทางจะพบกับธารน้ำตกชั้นเล็กชั้นน้อย                                6. ฝั่งต้า ตั้งอยู่ในเขตติดต่อกับบ้านไชยสถาน หมู่ที่ 4 ตำบลเชียงม่วน จังหวัดพะเยา มีสภาพคล้าย แพะเมืองผี คือ เป็นลักษณะของการกัดเซาะพังทะลายของดินที่ภูเขาเตี้ยๆ แห่งหนึ่ง ทำให้เกิดรูปร่างที่คงเหลืออยู่ภายหลังจากการพังทลายอย่างรุนแรงผ่านไปแล้ว มีรูปร่างคล้ายเสาแหลมๆ เรียงรายติดต่อกันเป็นแนวยาวประมาณ 200 เมตร สูงประมาณ 25 เมตร พื้นที่อยู่บริเวณรอยต่อของป่าน้ำปี้และป่าแม่ยมฝั่งซ้าย-น้ำควรฝั่งซ้าย สภาพพื้นที่เป็นภูเขามีทางลูกรังเชื่อมต่อกับบ้านไชยสถานได้ พื้นที่รอบๆ นอกจากจะมีเขตติดต่อกับที่ทำกินของราษฎรบ้านไชยสถานบนยอดเขาของฝั่งต้า ยังเป็นจุดชมทิวทัศน์และบริเวณพักผ่อนได้ เนื่องจากมีพื้นที่ค่อนข้างราบ มีเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ และสามารถมองเห็นความสวยงามได้รอบด้านวน                                                                                    

การเดินทาง                                                                                                                        การเดินทาง เดินทางโดยรถส่วนตัวโดยใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1021 จากจังหวัดพะเยา ถึงอำเภอดอกคำใต้ เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 1251 ประมาณ 45 กิโลเมตร แยกขวาเข้าเส้นทางไปหมู่บ้านบ่อเบี้ยประมาณ 4 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1120 (แพร่-เชียงม่วน) แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 1091 จากนั้นแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 1251 อีก 15 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานฯ เดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง เส้นทางสายกรุงเทพฯ - พะเยา ลงที่ตัวเมืองพะเยา มีรถสองแถวจอดรอผู้โดยสารในบริเวณตลาดสดเมืองพะเยา ใช้ระยะเวลาในการเดินทางประมาณ 1 - 2 ชั่วโมง ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยภูนาง 

ที่มา: สำนักอุทยานแห่งชาติ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช 

PDF