วัดป่าแดงบุญนาค

๑. ชื่อวัด : วัดป่าแดงบุญนาค  

พิกัดภูมิศาสตร์ :  ละติจูด: ๑๙.๑๙๓๐๒๙๗ ลองติจูด: ๙๙.๙๓๑๘๖๗

ประเภทวัด :  วัดราษฎร์

นิกาย :  มหานิกาย

๒. ที่ตั้ง : เลขที่ ๖๑ บ้านป่าแดง หมู่ที่ ๓ ตำบลท่าวังทอง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา อยู่ห่างจากตัวเมืองพะเยาประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร ไปทางทิศเหนือ

๓. ประวัติความเป็นมา

          วัดป่าแดงบุญนาค หรือวัดป่าแดงดอนไชยบุญนาค ตั้งอยู่เลขที่ ๖๑ บ้านป่าแดง หมู่ที่ ๓ ตำบลท่าวังทอง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา มีพื้นที่ทั้งหมด ๖๕ ไร่ ๓ งาน ๕๐ ตารางวา ปัจจุบันสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย วัดป่าแดงบุญนาคเป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดในจังหวัดพะเยา ได้รับการยกย่องให้เป็นวัดแรกที่มีการทานก๋วยสลาก หรือประเพณีสลากภัต แต่เดิมวัดป่าแดงบุญนาค (ดอนไชยบุญนาค) เป็น ๒ วัดแยกจากกัน คือวัดป่าแดงหลวงหรือวัดป่าแดงดอนไชยวัดหนึ่ง และวัดบุญนาคอีกวัดหนึ่ง โดยวัดทั้ง ๒ ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนและมีอาณาเขตติดต่อกัน ตามประวัติที่พระธรรมวิมลโมลีได้เรียบเรียงไว้ วัดป่าแดงดอนไชยกับวัดบุญนาค เป็นพี่น้องกันตั้งอยู่ห่างกัน ๕ เส้น โดยวัดป่าแดงหลวงดอนไชยอยู่ทิศเหนือ วัดบุญนาคอยู่ทิศใต้ ในวัดบุญนาคมีเจดีย์เก่าแก่ ลักษณะเป็นทรงกลมขนาดใหญ่แบบลังกา ฐานสี่เหลี่ยมก่ออิฐยกสูงตอนบน เหนือฐานแปดเหลี่ยมขึ้นไปก่อด้วยหินทราย บริเวณที่ตั้งองค์เจดีย์ของวัดบุญนาค ไม่มีพระสงฆ์ มีแต่ซากโบสถ์ สำหรับที่วัดป่าแดงมีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ในบริเวณวัด มีมูลดินและซากโบราณสถาน สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นเจดีย์หรืออาคารโบราณสถาน จำนวน ๒๕ ตำแหน่ง ซากวิหาร ซากแนวกำแพงและเจดีย์ ซึ่งมีองค์ประกอบแบบสุโขทัย จากศิลาจารึก พย. ๙ ที่ค้นพบบริเวณเจดีย์ทรงสุโขทัยได้จารึกไว้ว่า เมื่อกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ได้เรียกชื่อวัดนี้ว่า “วัดพญาร่วง” สร้างโดยพญายุธิษฐิระ  กษัตริยะเมืองพะเยา ในปี พ.ศ. ๒๐๐๑ ซึ่งสอดคล้องกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ก่อนหน้านั้นซึ่งสันนิษฐานได้ว่าโบราณสถานต่างๆ ที่ขึ้นทะเบียนไว้คงจะสร้างขึ้นในสมัย พญายุธิษฐิระ เจ้าเมืองพิษณุโลกที่อพยพมาอยู่กับฝ่ายล้านนา และได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองพะเยาเมื่อตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑

๔. ความสำคัญของวัด

          สมัยสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๔ มีการค้นพบผอบซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ๔ องค์ ลักษณะคล้ายเมล็ดผักกาด จอมพลผิน ชุณหะวัณ แม่ทัพในสมัยนั้นได้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ไป ๒ องค์ และนำไปบรรจุไว้ที่เจดีย์วัดศาลาทอง จังหวัดนครราชสีมา ให้ชื่อว่า สัมพุทธเจดีย์ สิงหนาท และให้เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรทำผอบขึ้นใหม่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ๒ องค์ที่เหลือ นำไปเก็บรักษาไว้ที่ทำการอำเภอพะเยาและที่สถานีตำรวจ ภูธรอำเภอพะเยา อยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ต่อมาคณะสงฆ์ ข้าราชการ กรรมการวัดทุกวัด ตลอดจนพ่อค้าประชาชน ลงความเห็นให้หาสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุใหม่ และใช้วัดป่าแดงบุญนาคเป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

วัดป่าแดงบุญนาคได้รับการยกย่องให้เป็นวัดแรกที่มีการตานก๋วยสลากหรือประเพณีสลากภัตต์ในปัจจุบัน ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๔ และวัดป่าแดงบุญนาคเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่ที่สำคัญของจังหวัดพะเยาคือหลวงพ่อนาคและพระพุทธรูปไม้แก่นจันทร์ ปัจจุบันประดิษฐาน ณ พิพิทธภัณฑ์ณสถานแห่งชาติ 

๕. รายนามเจ้าอาวาส

พระครูภาวนาธิคุณ หรือ ครูบาอินโต คนฺธวํโส พ.ศ. ๒๔๙๓-๒๕๐๕

พระนง ปสนฺโน พ.ศ. ๒๕๐๕-๒๕๐๙
หลวงพ่อหลาน ปสนฺนจิตโต พ.ศ. ๒๕๐๙-๒๕๑๑
หลวงพ่อบุญมา พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๑๗ 
พระอธิการศรีหมั้ว กตปุญโญ พ.ศ. ๒๕๑๗-๒๕๒๒

พระครูใบฎีกาสุทธิพันธ์ อินฺทโชโต พ.ศ. ๒๕๒๒-๒๕๒๗
พระครูใบฎีกา นพพล ธมฺมคุตโต พ.ศ. ๒๕๓๒-๒๕๓๕
พระอธิการบุญทัน สุทนฺโต พ.ศ. ๒๕๓๕
พระอธิการสุทนฺโตภิกขุ พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นต้นมา

๖. สิ่งสำคัญภายในวัด

พระเจดีย์

สิ่งก่อสร้างที่สำคัญภายในวัด มีพระเจดีย์ลักษณะเป็นศิลปะแบบสุโขทัย และพระเจดีย์ทรงล้านนามีลักษณะคล้ายกับเจดีย์วัดป่าสัก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็นองค์เจดีย์ทรงหน้าไม้สิบสอง ฐานสี่เหลี่ยมขนาดกว้างยาว ร่วม ๒๕ เมตร

PDF