วัดลี

 

๑. ชื่อวัด : วัดลี 

พิกัดภูมิศาสตร์ :   ละติจูด: ๑๙.๑๖๖๐๒๑ ลองติจูด: ๙๙.๙๑๖๔๑๖

ประเภทวัด :  วัดราษฎร์

นิกาย :  สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย

๒. ที่ตั้ง : ตั้งอยู่เลขที่ ๕๑ ถนนวัดลี หมู่ที่ ๒ ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา

๓. ประวัติความเป็นมา

           วัดลีเป็นวัดเก่าแก่สำคัญวัดหนึ่งของเมืองพะเยามาช้านาน มีปูชณียสถานที่สำคัญและศักดิ์สิทธิ์คือ องค์พระธาตุวัดลี เป็นที่เคารพสักการบูชาของชาวพะเยา และประชาชนโดยทั่วไป “วัดลี” เป็นชื่อแต่ดั้งเดิม ความหมายคำว่า “ลี” เป็นคำโบราณของไทยทางภาคเหนือ หมายถึงกาดหรือตลาดในความหมาย “วัดลี” ก็คือ วัดที่อยู่ในย่านชุมชนตลาด

           ประวัติของวัดลี ตามหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในจารึก พย. ๒๗ ได้กล่าวถึง การสร้างวัดลี เมื่อปีจุลศักราช ๘๕๗ หรือปี พ.ศ. ๒๐๓๘ ตรงกับสมัยของพระเจ้ายอดเชียงราย กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา (เชียงใหม่) พระเจ้ายอดเชียงรายได้มีพระราชโองการให้เจ้าหมื่นหน่อ เทพครู ผู้เป็นพ่อครูหรือพระราชครูของพระเจ้ายอดเชียงราย ขณะนั้นมากินตำแหน่งเป็น “เจ้าสี่หมื่นพะเยา” ฐานะเป็นเจ้าผู้ครองเมือง ได้มาสร้างวัดลีเพื่อเป็นการถวายส่วนบุญ ส่วนกุศลแด่พระเจ้ายอดเชียงราย กษัตริย์เมืองเชียงใหม่ เจ้าสี่หมื่นพะเยาได้มากระทำพิธีฝังหินกำหนดเขตวัดและ ผูกพัทธสีมาเป็นอุโบสถไว้กับวัดลี เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๙ เหนือ (ประมาณปลายเดือน พฤษภาคม หรือต้นเดือน มิถุนายน) ปี พ.ศ. ๒๐๓๘ และเจ้าสี่หมื่นพะเยา ได้อาราธนาพระมหาสามีญาณเทพ จากวัดมหาพรมาเป็นประธานในพิธี พร้อมกับมีพระเถระสำคัญจากวัดต่างๆ ในเมืองพะเยามาร่วมพิธี เช่น พระมหาสามีนนท์ จากวัดพญาร่วง พระเถระญาณสุนทร จากวัดป่าพระเถรญาณมงคล จากวัด…(หลักฐานจากจารึกชำรุด) เจ้าสี่หมื่นพะเยาได้ถวายที่นาให้วัดหรือที่เรียกกันว่า “นาจังหัน” ซึ่งผู้ที่ทำนาในจังหันจะต้องเสียภาษีให้กับวัด รายได้จากภาษีนาเป็นค่าทะนุบำรุงวัด ทั้งข้าววัดและนาจังหันเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดโดยสมบูรณ์ กษัตริย์รัชกาลที่สืบต่อมา ไม่มีสิทธิ์จะเพิกถอน พระมหาเถรปัญญาวังสะ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดลี ต่อมาพม่าได้ยึดครองล้านนา ทำให้ล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๑๐๑ จนถึง พ.ศ. ๒๓๑๗ รวมระยะเวลานานถึง ๒๑๖ ปี การเป็นเมืองขึ้นของพม่า ทำให้เมืองล้านนาไม่มีความสงบสุข เพราะต้องอยู่ในภาวะสงครามเกือบตลอดเวลาและผู้คนล้มตายไปในสงครามเป็นจำนวนมาก เนื่องจากถูกกองทัพพม่าเกณฑ์ไปรบในสงครามระหว่างพม่ากับกรุงศรีอยุธยาหลายครั้ง และอีกส่วนหนึ่งถูกกวาดต้อนเป็นเชลยและเกณฑ์ไปเป็นทาสใช้แรงงานในพม่า ด้วยเหตุนี้เองทำให้จำนวนประชากรในล้านนาลดลง  หัวเมืองต่างๆ ของล้านนารวมถึงเมืองพะเยาต้องกลายเป็นเมืองร้างไปเป็นเวลายาวนาน ส่วนทางด้านศาสนาก็ขาดผู้คนมาทำนุบำรุงจึงทำให้วัดวาอารามส่วนใหญ่ถูกปล่อยให้ชำรุดทรุดโทรมและกลายเป็นวัดร้าง

          ความล่มสลายของอาณาจักรล้านนาทำให้การฟื้นฟูบ้านเมืองต้องใช้ระยะเวลายาวนานเพราะการขาดผู้นำที่เข้มแข็งและไม่มีกำลังคนมากพอจะมาพลิกฟื้นบ้านเมือง จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๓๑๗ ในสมัยกรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงยกกองทัพขับไล่พม่าออกจากล้านนา ทำให้ล้านนาเป็นอิสรภาพ ต่อมาจึงเริ่มเข้าสู่ยุคการฟื้นฟูบ้านเมืองภายใต้นโยบาย “เก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าเข้าเมือง” เมืองพะเยาได้รับการฟื้นฟูตั้งเมืองขึ้นมาอีกครั้งเมื่อเข้ายุคกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๖ ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ วัดลีไม่ปรากฎประวัติหลักฐานแน่ชัดในช่วงสมัยพม่ายึดครองล้านนา เข้าใจว่าคงไม่แตกต่างไปจากวัดอื่นๆ ในเมืองพะเยาสมัยนั้น คือถูกปล่อยให้รกร้าง ดังจะเห็นได้จากหลักฐานเอกสารในหนังสือราชการของกระทรวงมหาดไทยที่ ๓๓/๑๔๒ ลงวันที่ ๕ เมษายน ๒๔๔๗ ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้าพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงนำความกราบทูลเพื่อขอพระราชกระแสอนุญาต จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาล ที่ ๕ เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองพะเยาไปอยู่ที่บ้านแม่ต่ำ ในหนังสือได้บรรยายสภาพของเมืองพะเยาสมัยนั้นว่า ในเขตเวียงมีสภาพแห้งแล้งกันดารน้ำ ราษฎรทำมาหากินลำบาก และราษฎรที่ทนลำบากไม่ได้ก็อพยพไปอยู่ที่อื่นกันหมด บ้านเรือนราษฎรเหลืออยู่ประมาณ ๒๖๐ หลังคาเรือน และแทบจะไม่ค่อยมีผู้คนอาศัย เหลือเพียงที่ทำการของราชการเท่านั้น ผู้คนส่วนใหญ่อพยพไปอยู่บ้านแม่ต๋ำเนื่องจากอยู่ใกล้แม่น้ำอิงและมีผู้คนอยู่หนาแน่น ในส่วนของวัดวาอารามส่วนใหญ่อยู่ในสภาพเป็นวัดร้าง มีวัดที่เหลืออยู่ไม่กี่แห่ง แต่ละวัดมีพระจำพรรษาอยู่เพียง ๒-๓ รูปเท่านั้น

          วัดลี เป็นวัดร้างมาหลายร้อยปี ได้รับการบูรณปฎิสังขรณ์ครั้งใหญ่ และยกฐานะขึ้นมาเป็นวัดอีกครั้ง ในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๖๓ – ๒๔๗๘ โดยมีพระครูบาศรีวิชัย นักบุญล้านนา เจ้าอาวาสวัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน มาเป็นผู้นำในการบูรณปฏิสังขรณ์ เมื่อการบูรณปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จ จึงได้ไปนิมนต์ครูบาแก้วมูลญาณวุฑฺฒิ ซึ่งเป็นพระลูกศิษย์ของครูบาศรีวิชัย ขณะนั้นจำพรรษาอยู่ที่วัดพระเจ้าตนหลวงให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดลี ต่อมาจนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ท่านจึงมรณภาพ และได้มีการแต่งตั้งพระศรีทอนซึ่งเป็นพระลูกวัดขึ้นรักษาแทนเจ้าอาวาส ภายหลัง ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เจ้าอาวาสรักษาการได้ลาสิกขา คณะกรรมการวัดและศรัทธาวัดจึงได้ไปนิมนต์พระบุญชื่น ฐิตธมฺโม จากวัดแม่ต๋ำเมืองชุม จังหวัดพะเยาให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดลี สืบต่อจวบจนปัจจุบัน

๔. ความสำคัญของวัด

วัดลีเป็นวัดเก่าแก่สำคัญวัดหนึ่งของเมืองพะเยามาช้านาน มีปูชณียสถานที่สำคัญและศักดิ์สิทธิ์คือ องค์พระธาตุวัดลี เป็นที่เคารพสักการบูชาของชาวพะเยา และประชาชนโดยทั่วไป วัดลีได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๐

๕. รายนามเจ้าอาวาส   

พ.ศ. ๒๐๓๘ พระมหาเถระปัญญาวังสะ
พ.ศ. ๒๐๓๙ – พ.ศ. ๒๔๖๕ *ไม่ทราบประวัติหรือข้อมูลที่ชัดเจน
พ.ศ. ๒๔๖๕ – พ.ศ. ๒๔๘๔ ** ครูบาแก้ว คันธวังโส (ผู้มาบูรณะ)
พ.ศ. ๒๔๘๔ – พ.ศ. ๒๕๑๐ *** ครูบาแก้วมูล ญาณวุฑฺฒิ
พ.ศ. ๒๕๑๐ – พ.ศ. ๒๕๑๒ พระศรีทอน (รักษาการแทนเจ้าอาวาส)
พ.ศ. ๒๕๑๒ – ปัจจุบัน พระครูอนุรักษ์บุรานันท์                                                                                                       

๖. สิ่งสำคัญภายในวัด

ประตูโขง

ประตูโขงขนาดใหญ่ สร้างด้วยอิฐถือปูนมีลายปูนปั้นสวยงาม ด้านบนเป็นช่อชั้นลดระดับลงมาได้สัดส่วน

องค์เจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมสีขาว

องค์เจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมสีขาวเจดีย์ศิลปะล้านนา ด้านกว้างและด้านยาว ประมาณ ๒๐ เมตร สูงตระหง่านสวยงาม เป็นเจดีย์แปดเหลี่ยม ยกเก็จย่อมุมอยู่ในกำแพงแก้วล้อมรอบทั้ง ๔ ด้าน ในแต่ละด้านมีพระพุทธรูปหินทรายรายรอบองค์เจดีย์ 

พระวิหาร

พระวิหารยาวกว่า ๔๐ เมตร กว้าง ๑๕ เมตร เป็นสถาปัตยกรรมล้านนาใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและมีพระพุทธรูปหินทรายประทับอยู่หลายองค์ 

พระประธาน

พระประธาน นับเป็นองค์ที่สวยงามปัจจุบันได้ลงรักปิดทอง

อนุเสาวรีย์เจ้าสี่หมื่นพะเยา

          เจ้าสี่หมื่นพะเยา พระราชครูของพระเจ้ายอดเชียงราย ขณะนั้นมากินตำแหน่งเป็น “เจ้าสี่หมื่นพะเยา” เป็นเจ้าผู้ครองเมืองพะเยา และได้มาสร้างวัดลีเพื่อเป็นการถวายส่วนบุญ ส่วนกุศลแด่พระเจ้ายอดเชียงราย กษัตริย์เมืองเชียงใหม่

พิพิธภัณฑ์เวียงพะเยา

          พิพิธภัณฑ์เวียงพะเยา (วัดลี) เกิดจากแรงบันดาลใจ ของพระครูอนุรักษ์บุรานันท์ เจ้าคณะอำเภอเมืองพะเยา เจ้าอาวาสวัดลี ที่ท่านได้เล็งเห็นคุณค่าโบราณวัตถุซึ่งเป็นสมบัติของชาติจำนวนมากถูกทอดทิ้งอยู่ตามวัดร้างต่าง ๆ ในเมืองพะเยาท่านจึงนำมาเก็บรักษาไว้ที่วัดลีเพื่อมิให้สูญหาย  จากการเก็บรวบรวมโบราณวัตถุมาเป็นระยะเวลากว่า ๕๐ ปี ทำให้โบราณวัตถุมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ จนไม่มี สถานที่เก็บเพียงพอ ดังนั้น ท่านจึงดำริที่จะจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขึ้นมา เพื่อให้เป็นแหล่งรวบรวมโบราณวัตถุและเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี ศิลปวัฒนธรรมเมืองพะเยาอีกแห่งหนึ่ง จนถึง ปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ทางจังหวัดพะเยา โดยนายธนเษก อัศวานุวัตร ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้เห็นความสำคัญจึงให้มีโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์วัดลีอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม ซึ่งทุก ๆ ฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนในชุมชนวัดลี ได้ร่วมใจกันสนับสนุนจนจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เวียงพะเยา (วัดลี)  สำเร็จในปี พ.ศ. ๒๕๕๐

๗. เส้นทางการเดินทางและแผนที่

วัดลี ตั้งอยู่ในชุมชนวัดลี ซึ่งเป็นชุมชนในเขตเทศบาล ทางเข้าวัดเป็นทางแยกด้านขวาก่อนจะถึงโรงเรียนเทศบาล ๓  ของถนนซุปเปอร์ไฮเวย์-งาว-พะเยา

PDF