วัดหลวงราชสัณฐาน

๑. ชื่อวัด : วัดหลวงราชสัณฐาน     

พิกัดภูมิศาสตร์ :   ละติจูด: ๑๙.๑๖๘๐๘๘๕ ลองติจูด: ๙๙.๙๐๐๒๗๘๒

ประเภทวัด :  วัดราษฎร์

นิกาย :  สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย

๒. ที่ตั้ง : ตั้งอยู่เลขที่ ๙๔๕/๔ ถนนพหลโยธิน ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา 

๓. ประวัติความเป็นมา

วัดหลวงราชสัณฐาน ตั้งอยู่ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา  ทางทิศตะวันออกของกว๊านพะเยา ระยะห่างประมาณ ๕๐๐ เมตร ติดกับถนนพหลโยธิน  เดิมเป็นวัดร้าง ต่อมาเจ้าหลวงวงศ์ร่วมกับชาวบ้านได้บูรณปฏิสังขรณ์จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๓๔๗ ชาวบ้านเรียกว่า วัดหลวง   เนื่องจากเป็นวัดที่เจ้าหลวงวงศ์ซึ่งครองเมืองพะเยาเป็นผู้บูรณปฏิสังขรณ์ ต่อมาได้มีประชาชนมาประกอบพิธีทางศาสนาและได้ชื่อว่าวัดหลวงราชสัณฐาน  

๔. ความสำคัญของวัด

          วัดหลวงราชสัณฐานเป็นวัดเก่าแก่และเป็นวัดที่มีจิตรกรรมฝาผนัง อายุร้อยกว่าปีเพียงแห่งเดียวในจังหวัดพะเยา และวัดนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของกรมศิลปากร

 

๕. สิ่งสำคัญภายในวัด

วิหาร

วิหารเป็นสถาปัตยกรรมแบบพื้นเมืองล้านนาที่สวยงามแห่งหนึ่งมีอายุกว่าร้อยปี ด้านทิศตะวันออกที่เสาประตูทั้งสองข้าง มีรูปปั้นสิงห์เฝ้าประตูข้างละตัว เดินเหยียบย่างตรงขึ้นบันไดนาค ทางเข้าสู่ประตูวิหารมีสิงห์ปั้นด้วยปูนที่ข้างประตูอีกด้านละตัว วิหารตั้งอยู่บริเวณทิศใต้ของวัด หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ตัววิหารตั้งอยู่บนฐานสูงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๑๒.๙๒ เมตร ยาว ๓๐.๓๙ เมตร มีย่อมุมไม้สิบสอง ซึ่งทำให้แบ่งบริเวณภายในวิหารออกได้เป็น ๕ ห้องตามย่อมุมของผนัง ตัวผนังก่อด้วยอิฐถือปูน โบกปูนติดกับเสาไม้สี่เหลี่ยม มีประตู ๓ ประตู คือด้านหน้าเป็นประตูใหญ่และด้านข้างทั้งสองด้านไม่มีหน้าต่างแต่เจาะผนังเป็นรูปกากบาทเป็นระยะ ผนังช่องที่ ๓ จากด้านหน้าทั้ง ๒ ด้าน ถัดจากผนังปูนขึ้นไปเป็นไม้กระดานเข้ากรอบทั้งสี่ด้านเรียงติดกัน ช่องเสาละสามกรอบด้านละสามช่องเสา ในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ทางวัดได้เจาะผนังปูนทำหน้าต่าง รวมทั้งผนังไม้ข้างบนลักษณะของหลังคาลดชั้น ๓ ชั้น มุงด้วยแป้นเกล็ด ชายคามีคันทวย แกะด้วยไม้โดยช่างที่มีฝีมือสูง ออกแบบไม่ซ้ำกัน ส่วนผนังด้านหน้าเลยผนังปูนขึ้นไปแกะไม้เป็นลายเมฆไหล บริเวณวิหารเครื่องบนเป็นเครื่องไม้ มีเสาเรียงกันเจ็ดคู่ทำด้วยไม้เป็นเสากลมทาสีแดง มีบัวประดับกระจกอยู่ปลายเสา พระวิหารเป็นสีขาว ตัดกับหลังคาสีเหลืองขนุน

พระพุทธรูปสำริด

          เข้าไปข้างในจะเห็นพระพุทธรูปสำริดเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง แต่เดิมพระประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น เมื่อพายุพัดหลังคาวิหารพระพุทธรูปก็ล้มแตกหักเสียหาย ชาวบ้านและเจ้าอาวาสได้สร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องสำริดขึ้นมาใหม่เป็นพระประธานมีความสวยงามมาก

ภาพจิตรกรรมฝาผนัง

ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ในวิหาร มีความเก่าแก่มาก ตามประวัติวิหารสร้างขึ้นประมาณ พ.ศ.๑๗๑๗  และเมื่อปี พ.ศ.  ๒๕๒๗ วิหารโดนพายุพัดพังลง ทำให้ภาพจิตรกรรมฝาผนังได้รับความเสียหายมาก ภาพที่เหลือได้รับการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่ดีขึ้น ทางวัดและกรมศิลปากรจึงได้นำภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ได้รับการซ่อมแซมแล้วไปติดตั้งไว้ที่ฝาผนังในวิหารที่สร้างขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องราวพุทธประวัติ และวิถีชีวิตของคนล้านนา เป็นภาพสีโบราณเขียนด้วยสีฝุ่นผสมกาวยางไม้ เขียนลงบนกระดาษสา ผ้าแปะอยู่บนผนังไม้ เป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางด้านงานศิลปะ เนื้อเรื่องของภาพจิตรกรรม เป็นมหาชาติ พุทธประวัติ ภาพนรกสวรรค์ ภาพธรรมชาติ และภาพชุมชนชาวบ้าน

องค์เจดีย์

ด้านหลังพระอุโบสถเป็นองค์เจดีย์ องค์เจดีย์องค์ที่เห็นปัจจุบันได้มีการบูรณะซ่อมแซมมาแล้ว เพราะองค์เก่าหักพังลงเป็นองค์เจดีย์ศิลปะล้านนา ที่มีตัวเรือนธาตุเป็นสี่เหลี่ยมไม่มีซุ้มจรนำ ส่วนบนจะเป็นองค์ระฆังศิลปะสุโขทัยหรือลังกา

ซุ้มประตู

ประตูทางเข้าเป็นซุ้มประตูไม้สามช่องใช้แป้นเกล็ด เป็นหลังคา และแกะสลักลายไม้ประดับซุ้มประตูทรงล้านนา

อุโบสถ

อุโบสถประดับกระจกและลวดลายปูนปั้นสวยงาม

๖. เส้นทางการเดินทางและแผนที่

วัดหลวงราชสัณฐาน ตำบล เวียง อำเภอ เมืองพะเยา จังหวัด พะเยา  

ที่อยู่นี้ตั้งอยู่บนถนน ซอยวัดหลวงราชสัณฐาน, เวียง และอยู่ในย่านของ อำเภอ เมืองพะเยา, พะเยา

 

PDF