วัดศรีอุโมงค์คำ

๑. ชื่อวัด : วัดศรีอุโมงค์คำ   

พิกัดภูมิศาสตร์ :   ละติจูด: ๑๙.๑๖๔๙๔๕๘ ลองติจูด: ๙๙.๙๐๐๘๓๒๒

ประเภทวัด :  วัดราษฎร์

นิกาย :  สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย

๒. ที่ตั้ง : เลขที่  ๓  ถนนท่ากว๊าน  ตำบลเวียง  อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา

๓. ประวัติความเป็นมา

          วัดศรีอุโมงค์คำ หรือ วัดสูง ตั้งอยู่เลขที่ ๓ บ้านท่ากว๊าน ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา มีที่ดินเนื้อที่ ๖ ไร่ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ”  เพราะตั้งอยู่ที่ราบสูงทั้งเจดีย์และพระอุโบสถยังตั้ง อยู่บนฐานสี่เหลี่ยมยกสูง จึงทำให้วัดนี้สูงสง่างาม ตามประวัติ วัดศรีอุโมงค์คำสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๙ เดิมชาวบ้านเรียกว่า วัดสูง ต่อมาได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๘ มีเขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๒๖ เมตร อาคารเสนาสนะของวัดศรีอุโมงค์คำ ประกอบด้วยอุโบสถ ศาลาการเปรียญ วิหาร และกุฏิสงฆ์ ปูชนียวัตถุ คือ เจดีย์บรรจุพระบรมธาตุอันเป็นเจดีย์สมัยเชียงแสนซึ่งสภาพยังสมบูรณ์อยู่ และพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองซึ่งขาวพะเยาเรียกกันว่า “ พระเจ้าล้านตื้อ ” ซึ่งชี่อทางการของพระพุทธรูปองค์นี้คือ “ หลวงพ่องามเมืองเรืองฤทธิ์ ”

 

๔. ความสำคัญของวัด

เป็นวัดที่ประดิษฐานพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองพะเยาอีกองค์หนึ่งนามว่า "หลวงพ่องามเมืองเรืองฤทธิ์ " (ชาวบ้านเรียก พระเจ้าล้านตื้อ) ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ทางศิลปะของเมืองภูกามยาว พระเจ้าล้านตื้อเป็นพระประธานในวัดศรีอุโมงค์คำ ซึ่งเป็นเนื้อสัมสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 184 ซม. สูงทั้งฐาน 270 ซม. ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระพุทธรูปที่งดงามที่สุดในล้านนาไทย วัดศรีอุโมงค์คำ สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. ๒๓๘๙ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา วันที่  ๓  กุมภาพันธ์  พ.ศ. ๒๔๙๔   ปัจจุบัน วัดศรีอุโมงค์คำเป็นสถานที่ตั้งโรงเรียนการกุศลของวัด คือ โรงเรียนพินิตประสาธน์ ที่รับนักเรียนตั้งแต่พระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์เรียนวิชาสามัญ และเป็นที่จำพรรษาของพระเทพญาณเวที เจ้าคณะจังหวัดพะเยาองค์ปัจจุบัน

๕. เจ้าอาวาส  

พระเทพญาณเวที เป็นเจ้าอาวาสวัดศรีอุโมงค์คำ พ.ศ.  ๒๕๑๙ – ปัจจุบัน 

๖. สิ่งสำคัญภายในวัด

ด้านหน้าประตูขึ้นบันไดสองชั้นเข้าไปสู่พระอุโบสถ หน้าบันเป็นลายไทยปูนปั้นติดกระจกพื้นสีเขียวใบระกา มีชั้นเดียวแต่มีมุขซ้อนกันสามชั้น 

องค์พระธาตุเจดีย์

วัดศรีอุโมงค์คำ มีองค์พระธาตุเจดีย์บนเนินที่ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ด้านหลังของโบสถ์ เจดีย์องค์นี้สร้างขึ้นในสมัยเชียงแสน แต่จากเอกสารของวัดระบุว่าไม่ปรากฏหลักฐาน ปี พ.ศ. ที่สร้างชัดเจน สันนิษฐานว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า ๔๐๐ ปี ลักษณะเจดีย์เป็นทรงล้านนาทั่วไป มีความโดดเด่นตรงที่มีฐานย่อมุมไม้ ๑๒ และมีซุ้มพระประดับอยู่ทั้ง ๔ ด้าน  เจดีย์องค์นี้ ได้ถูกฟ้าผ่าอยู่บ่อยครั้ง ทำให้คนโบราณหลายคนเชื่อว่าเป็นเจดีย์อาถรรพ์ เมื่อกาลเวลาผ่านไป ได้มีการติดตั้งสายล่อฟ้าที่เจดีย์ ปัญหาเรื่องฟ้าผ่าเจดีย์หักพังเป็นอันหมดไป

วิหารเล็ก

ด้านล่างของฐานพระอุโบสถและเจดีย์ ยังมีวิหารเล็กๆ  กว้างประมาณ   ๑๐  เมตร  ยาว ๑๕ เมตร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ สององค์ องค์แรก คือ พระพุทธรูปหินทรายพระเจ้าทันใจ  พระพุทธรูปอีกองค์คือ พระพุทธรูปหินทรายกว๊านพระเยา

พระเจ้าล้านตื้อ (พระเจ้าแสนแซ่)

พระเจ้าล้านตื้อ มีหลักฐานปรากฏในศิลาจารึกว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าเมืองสร้อยพะเยา ในราวปี พ.ศ. ๒๐๕๘ แต่ไม่ทราบว่าเดิมมาจากที่ไหน เพราะพบถูกทิ้งอยู่ที่สนามเวียงแก้ว (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งศาลหลักเมืองพะเยา) ก่อนถูกอัญเชิญมาเป็นพระประธานภายในโบสถ์วัดศรีอุโมงค์คำ   พระเจ้าล้านตื้อ เป็นปางมารวิชัย ทำจากทองสำริด หน้าตักกว้าง ๑๘๔ เซนติเมตร สูง ๒๗๐ เซนติเมตร มีอีก ๒ ชื่อเรียกว่า “พระเจ้าแสนแส้” หรือ “หลวงพ่องามเมืองเรืองฤทธิ์” สำหรับที่มาของชื่อพระเจ้าล้านตื้อนั้น คำว่าตื้อเป็นจำนวนนับของทางล้านนา ตื้อเป็นจำนวนนับที่เยอะมาก จากแสน ล้าน โกฏิ ก็เป็น“ตื้อ” ดังนั้นล้านตื้อ จึงหมายถึงความมีน้ำหนักมากของพระพุทธรูปองค์นี้ ส่วนพระเจ้าแสนแส้      (บางข้อมูลเขียนว่าแสนแซ่) “แส้” เป็นภาษาล้านนาหมายถึงสลัก พระพุทธรูปนี้มีความพิเศษตรงที่ ตลอดทั้งองค์ของท่านช่างทำเป็นสลัก สามารถถอดประกอบได้ มีทั้งหมด ๔ จุดด้วยกัน คือที่ พระศอ(คอ) ข้อศอกทั้ง ๒ ข้าง และที่เอว   ส่วนชื่อ “หลวงพ่องามเมืองเรืองฤทธิ์” นั้น เป็นชื่อที่มาทีหลัง ตั้งเพื่อยกย่องให้เกียรติในความงดงามของพระเจ้าล้านตื้อ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดองค์หนึ่งแห่งล้านนา  พระเจ้าล้านตื้อมีพระวรกายอวบอิ่ม สีทองงามอร่าม พระพักตร์ดูอมยิ้มอยู่ตลอดเวลา  

พระเจ้าทันใจ

พระเจ้าทันใจ ดั้งเดิมเป็นพระจากที่ไหนไม่มีใครทราบ แต่ในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ หลวงพ่อใหญ่ หรือพระธรรมวิมลโมลีที่ขณะนั้นเป็นพระครูพินิตธรรมประภาส ได้ย้ายจากวัดเมืองชุม ต.แม่ต๋ำ มาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดแห่งนี้ หลวงพ่อใหญ่เป็นผู้นิยมสะสมพระพุทธรูปเก่า เมื่อท่านพบพระพุทธรูปองค์นี้ที่สวนของนายอัฐ สายวรรณะ ใกล้ๆกับป่าช้าวัดลี (แหล่งขุดค้นงานพุทธศิลป์หินทรายอันสำคัญแห่งเมืองพะเยา) จึงอัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดศรีอุโมงค์คำในปีเดียวกัน พระเจ้าทันใจองค์นี้ เป็นพระพุทธรูปหินทรายที่ได้ชื่อว่ามีความสมบูรณ์ที่สุดในบรรดาพระพุทธรูปหินทรายที่ขุดค้นพบ เดิมพระพุทธรูปองค์นี้ไม่มีชื่อเรียก แต่ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน คนที่มาสักการะขอพรมักสมหวัง ชาวบ้านจึงเรียกท่านว่า 

พระเจ้ากว๊าน

พระเจ้ากว๊าน หรือ “หลวงพ่อศิลา” เป็นพระพุทธรูปหินทรายสกุลช่างพะเยา ปางมารวิชัยอายุเก่าแก่กว่า ๕๐๐ ปี ถูกค้นพบในกว๊านพะเยาช่วงน้ำลดในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ (ก่อนจะเป็นอ่างเก็บน้ำในปี ๒๔๘๒ กว๊านพะเยาเคยเป็นชุมชนมีวัดมีหมู่บ้านมาก่อน)  พระเจ้ากว๊าน ถูกอัญเชิญจากกว๊านพะเยามาประดิษฐานที่วัดศรีอุโมงค์คำอยู่ ๒๐ กว่าปี จนกระทั่งทางการบูรณะปรับแต่ง “วัดติโลกอาราม” กลางกว๊านพะเยาเสร็จสิ้น จึงได้อัญเชิญหลวงพ่อศิลากลับไปประดิษฐานที่วัดติโลกอารามในกว๊านพะเยาตามเดิม  ทางวัดศรีอุโมงค์คำจึงสร้างองค์พระเจ้ากว๊านจำลองขึ้นมาเพื่อรำลึกว่าครั้งหนึ่งท่านเคยมาประดิษฐานอยู่ที่วัดศรีอุโมงคำ 

พระเจ้าแข้งคม

พระเจ้าแข้งคม ประดิษฐานอยู่ทางมุมด้านขวาของโบสถ์ พระเจ้าแข้งคมเป็นพระพุทธรูปหินทรายที่เป็นผลงานศิลปะพื้นบ้าน เหตุที่พระพุทธรูปองค์นี้ได้ชื่อว่าพระเจ้าแข้งคม เป็นเพราะท่านมีหน้าแข้ง (พระชงฆะ) เป็นเหลี่ยมเป็นสันคมชัดอย่างชัดเจน ซึ่งพระพุทธรูปแบบนี้ในเมืองพะเยามีไม่มากนัก และที่มีชื่อเสียงคล้ายกับพระเจ้าแข้งคมเมืองพะเยา คือพระเจ้าแข้งคมวัดศรีเกิดเชียงใหม่ สันนิษฐานว่าพระเจ้าแข้งคมวัดศรีเกิดกับพระเจ้าแข้งคมวัดศรีอุโมงค์คำมีความเกี่ยวพันกันทางด้านศิลปะ นับเป็นอีกหนึ่งในงานพุทธศิลป์พื้นบ้านล้านนา

๗. เส้นทางการเดินทางและแผนที่

จากศาลากลางจังหวัดพะเยา ใช้ถนนเส้นทางไปตำบลเวียง โดยเริ่มต้นจากถนนหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ไปจนถึงสามแยกร่องห้า แล้วเลี้ยวขวาขับตรงไปตามถนนจะผ่านทางเข้าสถานีขนส่งผู้โดยสาร บขส. ด้านซ้ายมือ เลยไปไม่ไกลจะมีป้ายบอกทางเข้าไปวัดศรีอุโมงค์คำ รวมระยะทางประมาณ 5.5 กิโลเมตร

 

 

PDF