เต่าปูลู

เต่าปูลู : Poo-Loo Turtle, Big-headed turtle

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Platysternon megacephalum

วงศ์ : Platysternidae

     จากจำนวนชนิดของเต่าที่พบในประเทศไทย ไม่ต่ำกว่า 30 ชนิด นั้น เต่าปูลูจัดอยู่ในอันดับ Testudines วงศ์ Platysternidae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Platysternon megacephatum ได้รับการประกาศให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ประเภทที่ 1 ลักษณะเป็นเต่าขนาดเล็ก ที่มีความยาวของกระดองอยู่ที่ประมาณ 17-20 ซ.ม. มีรูปร่างแปลกกว่าเต่าอื่นๆ คือ มีลำตัวและกระดองแบนไม่อ้วนเทอะทะ มีส่วนหัวเป็นทรงสามเหลี่ยมขนาดใหญ่มาก และด้านบนมีแผ่นแข็งคลุม ปากงองุ้มเป็นตะขอ และมีความแข็งแรงมาก ทำให้ไม่สามารถหดหัวและส่วนคอเข้าภายในกระดองได้ ที่แปลกยิ่งกว่า คือ เป็นเต่าชนิดเดียวในประเทศไทยที่มีหางยาวมาก ยาวกว่าความยาวของกระดองเสียอีก โดยหางมีลักษณะเป็นข้อปล้องรูปสี่เหลี่ยมเรียงต่อกัน ค่อยๆ เรียวแหลมไปทางปลาย ส่วนหัวและกระดองหลังมีสีน้ำตาลเข้ม ลูกเต่าปูลูมักมีสีน้ำตาลอ่อนและขอบกระดองด้านหลังหยักเป็นฟันเลื่อย เต่าปูลูมีเท้าแบบพังผืดช่วยให้ว่ายน้ำได้ดี ซ้ำยังมีเล็บแหลมโค้งยาวออกมาจากนิ้วทุกนิ้ว ช่วยให้มันสามารถปีนป่ายไปตามโขดหิน หรือปีนขึ้นต้นไม้หนีไฟป่าได้อีกด้วย

     เต่าปูลูจะออกหาอาหารในเวลากลางคืน ตามลำธาร หรือบริเวณที่มีน้ำขัง อาหาร คือ ปูน้ำตก ปลา หอย และกุ้ง ไม่ชอบกินอาหารประเภทพืชเหมือนเต่าทั่วๆ ไป และจะวางไข่บนสันทรายเปียกในปลายเดือนเมษายน วางไข่ครั้ง 3-4 ฟอง ทั้งนี้ เต่าปูลูยังสามารถเป็นดัชนีชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติโดยรอบที่มีเต่าปูลูอาศัยอยู่ได้อีกด้วย เพราะเต่าปูลูจะอาศัยอยู่ตามลำธาร น้ำเย็นบนภูเขา หรือป่าต้นน้ำ ในระดับความสูงกว่า 1,000 เมตร ขึ้นไป ทางภาคเหนือของประเทศไทย พบได้ในหลายจังหวัด เช่น เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน และพะเยา โดยเฉพาะจังหวัดพะเยา พบว่ามีแหล่งที่อยู่อาศัยของเต่าปูลูในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติภูซาง บริเวณน้ำตกห้วยโป่งผา ห้วยผาจา และห้วยเมี้ยง ในเขตบ้านฮวก ตำบลภูซาง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา ซึ่งอุทยานแห่งชาติภูซางได้จัดสร้างแหล่งเรียนรู้เต่าปูลูไว้ในบริเวณลำห้วยเมี้ยง หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติภูซาง ที่ 4 (บ้านฮวก) โดยได้สร้างบ่อเพื่ออนุบาลลูกเต่าตัวเล็ก ที่สำรวจพบในพื้นที่ และเต่าปูลูที่ชาวบ้านพบเจอตามป่าแล้วนำมามอบให้กับอุทยานฯ เพื่อดำเนินการอนุบาลและพักฟื้นให้แข็งแรงก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติต่อไป 

PDF