ชาติพันธ์ุไทยวน

ประวัติความเป็นมา

ไทยวน (อ่านว่า ไท-ยวน) หมายถึงคนเมืองไทยเหนือ หรือไทยล้านนา นับเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทกลุ่มหนึ่งที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ทางตอนเหนือของประเทศไทยมาเป็นเวลาช้านาน ในอดีต คนล้านนามีคำเรียกตนเองที่หลากหลาย เช่น ยวน ไต หรือไท เพื่อแยกตัวให้ต่างจากชาวใต้ (หมายถึงชาวสยาม) แม้ในปัจจุบัน ชาวล้านนาจะกลายเป็นพลเมืองของประเทศไทยไปแล้วก็ตาม แต่ยังคงคงเรียกตัวเองว่า "คนเมือง" เพื่อให้สอดคล้องกับอักษรและภาษาล้านนาที่เรียกกันว่า "คำเมือง" ซึ่งสิ่งดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นเอกลักษณ์ของคนล้านนา ชาวไทยวนอาศัยอยู่ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง น่าน พะเยา เชียงราย แม่ฮ่องสอน แพร่ มีภาษาพูดใกล้เคียงกับไทลื้อและไทเขิน ปัจจุบันชาวไทยวนรับอิทธิพลจากไทยภาคกลาง ชาวไทยวนมีภาษาพูด และภาษาเขียนเป็นของตนเอง และได้มีการบันทึกเป็นหนังสือยวนไว้ในสมุดข่อยหรือใบลาน เรื่องที่บันทึกส่วนใหญ่ มักจะเป็นตำราหมอดู ตำราสมุนไพร เวทมนต์คาถา ส่วนเรื่องที่บันทึกลงบนใบลานมักเป็นพวกพระธรรมเทศนา ซึ่งชาวไทยวนนี้ จะนิยมถวายคัมภีร์เทศน์ เพราะมีความเชื่อว่าจะได้บุญมาก

ชาติพันธ์ไทยวนในจังหวัดพะเยามีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ คือยุคก่อนรัตนโกสินทร์ และยุคต้นรัตนโกสินทร์ โดยกลุ่มหลังที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งฟื้นฟูบ้านเมืองได้ตั้งชุมชนแบ่งเป็น 2 บริเวณกว้างๆ คือบริเวณครึ่งซีกด้านตะวันออก และบริเวณครึ่งซีกด้านตะวันตกของจังหวัดพะเยา นอกจากนี้ยังมีการเคลื่อนย้ายผู้คนชาติพันธ์ไทยวนเข้ามาในพื้นที่จังหวัดพะเยาในช่วงหลัง ปัจจุบันไทยวนเป็นประชากรหลักมีจำนวนมากที่สุดของจังหวัดพะเยา

PDF