ชาติพันธุ์ไทลื้อ

ประวัติความเป็นมา

          ในปี พ.ศ.2331 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ได้มีรับสั่งให้เจ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่าน ไปตีเมืองเชียงตุง และได้เข้าไปกวาดต้อนชาวไทยใหญ่จากรัฐฉาน ประเทศพม่ากับ ชาวไทลื้อ จากแคว้นสิบสองปันนา ประเทศจีน อันประกอบด้วยเมืองพง เมืองมาง เมืองหย่วน เมืองแมน เมืองล้า และเมืองอู แต่ละเมืองก็มีเจ้าผู้ครองนครปกครองอยู่ บรรดาผู้คนที่ถูกกวาดต้อนมาให้ไปอยู่เมืองเชียงม่วน (อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา ในปัจจุบัน) โดยมีเจ้าผู้ครองนครที่ทรงพระนามว่าพญาคำและ พญาธนะรวมอยู่ด้วย และมีความเห็นว่า อันเมืองเชียงม่วนนี้ จะทำอาชีพใดหรือการเกษตรก็ไม่ค่อยที่จะได้ผลดีนัก จึงขออนุญาตเจ้าเมืองน่านอพยพผู้คนเข้ามาอยู่เมืองเชียงคำ (อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ในปัจจุบัน) และได้ตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านมาง” โดยได้เอาชื่อเมืองมางที่เคยอยู่ในอดีตมาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้าน พญาทั้งสองได้นำชาวไทยลื้อทั้งหลายมาตั้งถิ่นฐานหรือที่อยู่อาศัย พร้อมกับประกอบอาชีพตามที่ถนัด และได้พากันสร้างวัดขึ้นมาวัดหนึ่ง โดยตั้งชื่อวัดว่า “วัดมาง”

          ไทลื้ออำเภอเชียงคำ อพยพมาจากเมืองพง เมืองหย่วน เมืองมาง เมืองยั้ง เมืองเงิน เมืองเชียงคาน โดยการตั้งหมู่บ้าน ใช้ชื่อเมืองที่อยู่เดิมตั้งเป็นชื่อหมู่บ้าน เช่นบ้านหยวน บ้านมาง บ้านเชียงคาน บ้านล้า ฯลฯ นอกจากนั้นยังมีประเพณีในการนับถือเทวดาเมืององค์เดียวกันคือ เจ้าหลวงเมืองล้า ในบ้านน้ำแวน หมู่ 1 ตำบลน้ำแวน บ้านแวน หมู่ 2 ตำบลน้ำแวน บ้านแวนพัฒนาหมู่ 5 ตำบลเชียงบาน บ้านล้า ตำบลเวียง ( อิสรา ญาณตาล .พ.ศ. 2534 )

กลุ่มไทลื้อเชียงคำ อพยพมาจากเมืองปัว ซึ่งเป็นกลุ่มที่นับถือเจ้าหลวงเมืองล้า มาตั้งถิ่นฐานในอำเภอเชียงคำ โดยเลือกเอาบริเวณที่ห้วยแม่ต๋ำไหลมาบรรจบกันกับแม่น้ำแวน (ปัจจุบันคือบ้านหมู่ที่ 1) หลังจากนั้น ก็มีการขยายชุมชนออกไปตั้งอยู่อีกฟากหนึ่งของห้วยแม่ต๋ำ (ปัจจุบันคือ หมู่บ้านแวนหมู่ที่ 2) และการขยายตัวครั้งสุดท้าย เมื่อประมาณ พ.ศ. 2460 ไปตั้งอยู่อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำแวน ซึ่งปัจจุบันคือ บ้านแวนพัฒนา หมู่ 5 ตำบลเชียงบาน ซึ่งไทลื้อกลุ่มนี้ จะเป็นกลุ่มเดียวกับที่ถูกกวาดต้อนมาจากสิบสองปันนาในสมัยพระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน

บ้านแวนทั้ง 3 หมู่บ้าน ยังมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับกลุ่มไทลื้อในอำเภอท่าวังผา ความสัมพันธ์เครือญาติระหว่างบ้านแวนพัฒนา หมู่ 5 กับบ้านหนองบัว เพราะใน พ.ศ. 2495 มีครอบครัวไทลื้อจากบ้านหนองบัวมาตั้งรกรากอยู่ที่บ้านแวนพัฒนาโดยตรงประมาณ 20 ครอบครัว

นอกจากนี้ กลุ่มไทลื้อเชื้อสายเมืองล้า (บ้านหนองบัว ต้นฮ่าง ดอนมูล รวมถึง บ้านแวนทั้ง 3 และบ้านล้า) มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับไทลื้อที่เมืองคอบ ซึ่งอยู่ในเขตประเทศลาวปัจจุบัน กล่าวคือ ต่างก็นับถือเทวดาเจ้าหลวงเมืองล้า เป็นเทวดาเมืองเหมือนกัน และทุกปีเมื่อมีพิธีกรรมเมือง เลี้ยงเทวดาเจ้าหลวงเมืองล้า ก็มีเครือญาติจากบ้านแวนและบ้านหนองบัวไปร่วมพิธีด้วยทุกครั้ง ถ้าไปไม่ได้ก็จะมีการเก็บเงินไปบริจาคร่วมในการจัดซื้อควายมาสังเวย

PDF