ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมผักตบชวา

ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมผักตบชวา

          ในอดีต ชาวบ้านตำบลสันป่าม่วง มีอาชีพทำไร่ ทำนา หาของป่า และการประมง ตำบลสันป่าม่วง มีสภาพภูมิศาสตร์ติดกับกว๊านพะเยา มีผักตบชวาลอยอยู่มากมาย ผักตบชวาเป็นเพียงวัชพืช ที่ไม่มีคุณค่าแต่อย่างใด ชาวบ้านนำยอดอ่อนมาปรุงอาหาร และนำลำต้นที่กำจัดทิ้งมาหมักปุ๋ยเท่านั้น  ต่อมาในปี พ.ศ. 2524 ได้มีแม่ชี 2 คน จากสำนักสงค์แห่งหนึ่งซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ในการทำหัตถกรรมผักตบชวา มาพำนักอาศัยอยู่ในเขตตำบลสันป่าม่วง ได้นำความรู้ในการทำหัตถกรรมจากผักตบชวามาฝึกสอนให้กับกลุ่มแม่บ้านตำบลสันป่าม่วง เป็นอาชีพเสริมให้แก่ชาวบ้านหลังฤดูทำนาโดยเริ่มจากการสอนชาวบ้านนำก้านผักตบชวามาจักสานเป็นของชำร่วยและเปลญวน ซึ่งใช้วิธีการที่ไม่ซับซ้อนมาก โดยการนำเอาก้านผักตบชวามาตากให้แห้ง และสานขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่างๆ แต่ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด เนื่องจากผลิตภัณฑ์ไม่มีความคงทน สวยงาม และขึ้นราง่าย ผลิตภัณฑ์บางชนิดใช้วัตถุดิบและเวลามาก เช่น เปลญวน แต่ราคาต่ำ ผลตอบแทนที่ได้ไม่คุ้มค่ากับแรงงานที่ทำไป  ต่อมาได้มีส่วนราชการต่างๆ ในจังหวัดพะเยา ได้แก่ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดพะเยา สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพะเยา ได้จัดหาวิทยากรมาฝึกอบรม ให้ความรู้เพิ่มทักษะเกี่ยวกับการตากแห้งโดยการผึ่งแดด และการนำมาอบกำมะถัน ผลิตภัณฑ์ที่ฝึกหัดจักสาน ได้แก่ กระจาดรูปไข่ จานรองแก้ว ฯลฯ เป็นต้น จนกระทั่งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้พิจารณาคัดเลือก หมู่บ้านสันป่าม่วง เป็นหมู่บ้านอุตสาหกรรมชนบทเพื่อการท่องเที่ยว ตามโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรม หลังจากนั้นได้มีส่วนราชการต่างๆ เข้ามาให้การสนับสนุนและส่งเสริมพัฒนารูปแบบและกระบวนการผลิต ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลสันป่าม่วง สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองพะเยา สำนักงานสหกรณ์จังหวัดพะเยา สำนักงานพาณิชย์จังหวัดพะเยา ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอเมืองพะเยา และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพะเยาฯลฯ สนับสนุนงบประมาณ จัดฝึกอบรมทำผลิตภัณฑ์ผักตบชวาขั้นเพิ่มทักษะ สนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนฯ เป็นต้น ปัจจุบันได้มีการพัฒนาที่กระบวนการผลิต รูปแบบ ความคงทน และความสวยงาม เป็นที่ต้องการของตลาด ตลอดจนมีการขยายกำลังการผลิตไปยังหมู่บ้าน/ตำบล ที่อยู่ใกล้เคียง เพื่อให้มีกำลังผลิตที่เพียงพอกับการรับคำสั่งซื้อของตลาดได้

ที่มา: www.museumthailand.com/uat/en/1776/storytelling/หัตถกรรมผักตบชวา

PDF