วัดท่าฟ้าใต้

บ้านท่าฟ้าใต้ ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทลื้อที่อพยพมาจากแคว้นสิบสองปันนา มณฑลยูนาน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน รูปแบบของศิลปะและสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่จึงได้รับอิทธิพลมาจากแคว้นสิบสองปันนา วัดท่าฟ้าใต้ สร้างขึ้นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๓๑๑ โดยครูธรรมเสนา และพ่อเฒ่าแสนอัฐิ ผู้นำชาวไทลื้อซึ่งอพยพมาจากสิบสองปันนา เป็นวัดที่เกิดจากความศรัทธาในพุทธศาสนา สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ วัดสร้างตามรูปแบบศิลปะไทลื้อที่มีความงดงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ลักษณะก่อด้วยอิฐถือปูน หลังคามี ๓ ชั้น มุงด้วยแป้นเกล็ด ชั้นที่ ๑ เป็นแบบปั้นหยาครอบตัววิหารทั้ง ๔ ด้าน ชั้นที่ ๒-๓ ทรงแบบปราสาทมีหน้าบัน ทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตกหน้าบัน เป็นลายเครือเถาแบบไทลื้อที่ประยุกต์ลายมาจากธรรมชาติ มีลายดอกไม้บานอยู่ตรงกลาง ประดับด้วยกระจกเงา โดยเชื่อว่าเป็นสิ่งสะท้อนความชั่วร้ายมิให้มาทำร้ายได้ ใบระกาเป็นไม้สัก แกะสลักเป็นรูปพญานาค เชิงชายฉลุลายน้ำหยด เอกลักษณ์ของไทลื้อ มีหลังคากันสาดรับทั้งสองด้าน ตัววิหารทึบ มีประตูไม่กว้างนัก เป็นบานไม้สักผนังด้านข้างมีหน้าต่างเล็ก ๆ โดยรอบทั้ง ๔ ด้าน พอให้อากาศถ่ายเทได้ ชาวไทลื้อนับถือหงส์และช้างซึ่งถือว่าเป็นสัตว์ชั้นสูงมาจากสวรรค์ จึงนำช้างและหงส์มารวมเป็นตัวเดียวกัน ให้ศีรษะเป็นช้าง ตัวเป็นหงส์ แกะด้วยไม้สักทอง เป็นช่อฟ้า “นกหัสดีลิงค์” มีความงดงามแปลกตา เชื่อกันว่าสร้างโดยช่างชาวไทยลื้อที่อพยพมาอยู่ในพื้นที่อำเภอเชียงม่วน เมื่อประมาณ ๒๓๙ ปีมาแล้ว วัดท่าฟ้าใต้จึงเป็นการหลอมรวมผสมผสานศิลปวัฒนธรรม ก่อเกิดเป็นงานศิลปะที่มีความงดงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะและถือเป็นงานศิลปะอันทรงคุณค่า

PDF